MasterChef All Stars Thailand มาสเตอร์เชฟ ออล สตาร์ส ประเทศไทย 2020
MasterChef All Stars Thailand สุดยอดรายการเรียลลิตี้แข่งขันทำอาหารลิขสิทธิ์ระดับโลก พร้อมแล้วที่จะพิสูจน์คนธรรมดา ที่มีใจรักในการทำอาหารอย่างไม่ธรรมดา
มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย เป็นรายการเกมโชว์ทำอาหาร โดย บริษัท เฮลิโคเนีย เอช กรุ๊ป จำกัด (ในเครือเอช กรุ๊ป) ซื้อลิขสิทธิ์จากกลุ่มเอนเดโมลชายน์ (ปัจจุบันถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มแบนิเจย์) มาผลิตในรูปแบบของประเทศไทย ออกอากาศครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ทาง ช่อง 7 เอชดี โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกอาชีพและทุกภาคของประเทศไทยร่วมเข้าแข่งขัน
กติกาการแข่งขัน
รอบคัดเลือกรอบแรก (Auditions Part 1)
ทางรายการจะให้ผู้เข้าแข่งขันเตรียมอาหารเป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้น ทางรายการจะให้ผู้เข้าแข่งขันทำอาหารที่เตรียมไว้พร้อมนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการเป็นเวลา 5 นาที เมื่อหมดเวลาคณะกรรมการจะชิมและตัดสิน โดยใช้เสียงจากกรรมการ 2 ใน 3 เสียง หรือเอกฉันท์เป็นที่สิ้นสุด หาก 2 ใน 3 เสียงให้ไม่ผ่าน ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะตกรอบทันที แต่ในทางกลับกัน หาก 2 ใน 3 เสียงให้ผ่าน ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะได้รับผ้ากันเปื้อนของรายการเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นเข้าสู่รอบต่อไปทันที
รอบคัดเลือกรอบสอง (Auditions Part 2)
ในรอบนี้จะเป็นการทดสอบทักษะพื้นฐานในการทำอาหาร โดยในฤดูกาลที่ 1 นั้นจะเป็นการทดสอบการหั่นขิง โดยจะมีการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันจำนวนหนึ่งเพื่อเข้าสู่การแข่งขันในรอบต่อไป และในรอบต่อไปจะให้ผู้เข้าแข่งขันทำอาหาร 1 จาน โดยที่ทางรายการจะกำหนดวัตถุดิบหลักและระยะเวลาในการทำอาหารให้ผู้เข้าแข่งขัน และผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกวัตถุดิบอื่นเพื่อใช้ประกอบอาหารได้ภายในเวลา 3 นาที หลังจากนั้นกรรมการจะตัดสินและประกาศผู้เข้าแข่งขันที่จะได้ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบต่อไปที่มาสเตอร์เชฟคิทเชน
รอบกล่องปริศนา
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 จานจากวัตถุดิบในกล่องปริศนา และวัตถุดิบพื้นฐานที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น โดยคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกอาหารจำนวน 3 จานที่ดีที่สุดและเลือกจานที่ดีที่สุดจาก 3 จานดังกล่าวเพียง 1 จานเท่านั้น โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นผู้ชนะในรอบนี้จะได้รับสิทธิพิเศษแตกต่างกันออกไปในแต่ละรอบ
รอบทดสอบความคิดสร้างสรรค์
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 จานจากโจทย์และวัตถุดิบหลักที่กำหนดให้และต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ภายในเวลา 3 นาทีจากห้องจัดเก็บอาหาร (Food Pantry) ของมาสเตอร์เชฟ ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนที่ทำอาหารได้ดีที่สุดจะได้เป็นหัวหน้าทีมในการแข่งขันรอบทีมชาเลนจ์ ต่อไป ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่ทำอาหารได้แย่ที่สุดจะต้องออกจากการแข่งขัน
รอบการแข่งขันแบบทีม
ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นหัวหน้าทีมจะมีสิทธิเลือกผู้เข้าแข่งขันคนอื่นเข้าสู่ทีม โดยผู้ชนะอันดับ 1 จากรอบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ จะได้สิทธิในการเลือกสมาชิกทีมก่อน และมีสิทธิที่จะเลือกผู้เข้าแข่งขันคนสุดท้ายที่ยังไม่ได้ถูกเลือกเข้าสู่ทีมให้กับอีกทีมหนึ่ง หรือเลือกที่จะเก็บไว้ในทีมตัวเองก็ได้ ในรอบนี้ทั้ง 2 ทีมจะต้องทำอาหารให้กับผู้ลงคะแนนที่ทางรายการเชิญมา โดยผลแพ้หรือชนะนั้นจะมาจากการที่ผู้ลงคะแนนเลือกที่จะให้คะแนนทีมใดทีมหนึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด โดยทีมที่ชนะจะได้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปทันที ส่วนทีมที่แพ้นั้นจะต้องแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำ อีกครั้งเพื่อหาผู้เข้าแข่งขันที่ต้องออกจากการแข่งขันต่อไป
รอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำ (Pressure Test)
ทีมที่แพ้ในรอบทีมชาเลนจ์ จะต้องมาแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำอีกครั้ง เพื่อคัดหาผู้ที่ต้องออกจากแข่งขันอย่างน้อย 1 คน ในบางรอบหัวหน้าของทีมที่แพ้ หรือหัวหน้าทีมของทีมที่ชนะในการแข่งขันในรอบทีมชาเลนจ์ สามารถเลือกผู้เข้าแข่งขันหรือตัวเองเพื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไป โดยไม่ต้องแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำ
ผู้เข้าแข่งขัน
นิกูล พยุงพงศ์, สุชาติ ใจฉ่ำ, อิศรา ดรลีเคน, มณีพร พรโชติทวีรัตน์, ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข, รภัสสา ศิริเลิศโสภณ, จำลอง ศรีรักษา, ชานนท์ เรืองศรี, สหดล ตันตราพิมพ์, จิตศักดิ์ หลิมภากรกุล, พัดชา กัลยาณมิตร, ณัฐนิชา บุญเลิศ & คมสันต์ วงค์ษา, สัญญา ธาดาธนวงศ์ & อลิษา ดอว์สัน, รภัสสรณ์ จิรจุรีย์ชัย & แบงค์ เจตะสานนท์
รางวัล
2561
ดาราเดลี่ อวอร์ดส์ ครั้งที่ 7 รายการโทรทัศน์ที่สุดแห่งปี
ฟีเวอร์ อวอร์ด ครั้งที่ 4 รายการโทรทัศน์ฟีเวอร์
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 9 รายการวาไรตี้ยอดเยี่ยม
2562
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 10 รายการเกมส์โชว์ยอดเยี่ยม
2563
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 11 รายการเกมส์โชว์ยอดเยี่ยม
สร้างโดย แฟรงก์ รอดดัม
เสนอโดย ปิยธิดา มิตรธีรโรจน์
กรรมการ
หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์
หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล
พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย