ละคร บุพเพสันนิวาส Love Destiny 2561 (EP.1-40 ตอนจบ) END ถึงแม้จะอยู่ห่างกันซักเพียงใด วันเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ผู้คนเข้ามาในชีวิตมากมายก็ไม่หวั่นไหว เหมือนดั่งว่าตัวเองต้องพบกับใครคนนั้นเท่านั้น เพราะนี้คือ “บุพเพสันนิวาส”

ถึงแม้จะอยู่ห่างกันซักเพียงใด วันเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ผู้คนเข้ามาในชีวิตมากมายก็ไม่หวั่นไหว เหมือนดั่งว่าตัวเองต้องพบกับใครคนนั้นเท่านั้น เพราะนี้คือ “บุพเพสันนิวาส”
เรื่องราวของ หญิงสาวชื่อ เกศสุรางค์ นักศึกษาโบราณคดี เธอมีเพื่อนสนิทที่แอบชอบอยู่คือเรืองฤทธิ์ วันหนึ่งทั่งคู่ประสบอุบัติเหตุรถพลิกควํ่า จากการหนีวิญญาณของแม่หญิงการะเกด ที่เสียชีวิตจากการร่ายมนต์กฤษณะกาลี วิญญาณของแม่หญิงการะเกดหลุดออกจากร่างไปพบกับวิญญาณของเกศสุรางค์ แม่หญิงการะเกดสำนึกตัวเอง ขอให้เกศสุรางค์ทำความดีในร่างของตน พอเกศสุรางค์ตื่นมาก็พบว่าตัวเองอยู่ในร่างแม่หญิงการะเกด ซึ่งขณะนั้นเป็น สมัยรัชกาล สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกด ได้พบกับพ่อเดชซึ่งเป็นบุพเพสันนิวาสของเธอ ท่ามกลางความเกลียดชังของผู้คนรอบข้าง แต่ตัวเธอ ก็ทำความดี จนทุกคนเริ่มคลายความเกลียดชัง และพ่อเดชก็เริ่มที่รักเธอมากเข้าทุกๆวัน


ละคร บุพเพสันนิวาส 2561

ละคร บุพเพสันนิวาส 2561

ละคร บุพเพสันนิวาส 2561 EP.1-40CH3+

หลังประสบอุบัติเหตุถึงชีวิต นักโบราณคดีสาวทะลุเวลากลับไปสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา สู่ร่างของสตรีชั้นสูงจิตใจต่ำช้า เธอจึงพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์นั้น

ละคร บุพเพสันนิวาส 2561 EP.1-15 ตอนจบ NETFLIX TH

เรื่องราวความรักข้ามกาลเวลา ของ เกศสุรางค์ หญิงสาวร่างอ้วน หน้าตาธรรมดาๆ เกศสุรางค์เกิดอุบัติเหตุจนตัวเองเสียชีวิต และวิญญาณกลับไปสู่ยุคกรุงศรีอยุธยา ในร่างของการะเกด สาวสวยแต่มีจิตใจร้ายกาจ เกศสุรางค์ในร่างของการะเกดจึงได้ผูกสัมพันธ์กับหมื่นสุนทรเทวา แต่ก็ต้องยับยั้งชั่งใจเพราะตัวเองคิดว่าสักวันต้องกลับไปโลกเดิมของเธอ

ละคร บุพเพสันนิวาส 2561 EP.1-15 ตอนจบiQIYI

:ซีนเด็ดละคร บุพเพสันนิวาส 2561

อัลบั้ม เพลงประกอบละคร เรื่อง บุพเพสันนิวาส

ดนตรี บรรเลง ประกอบละคร บุพเพสันนิวาส


ละคร บุพเพสันนิวาส 2561 ตอนจบ

อำนาจเหนือดวงจิตเป็นดังบุพเพสันนิวาส ที่นำพาดวงใจสองดวงให้มาบรรจบกัน ดุจดั่งความรักของ เกศสุรางค์ นักโบราณคดีสาวร่างอ้วนวัย 25 ปี ที่มีหน้าตาสุดแสนธรรมดา ทว่าเธอเป็นคนมีนิสัยร่าเริงแจ่มใส มองโลกในแง่ดี และมีความรู้ด้านโบราณคดี และภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดี เธอจึงเป็นที่รักของคนใกล้ชิด แต่ผู้ที่เกศสุรางค์อยากได้รับความรักจากเขามากที่สุดก็คือ เรืองฤทธิ์ เพื่อนสนิทที่คบกันมานานหลายปี แต่เพราะคิดว่าเรืองฤทธิ์คงไม่สนใจคนหน้าตาธรรมดา ๆ แถมยังอ้วนจนหน้าเกลียด เกศสุรางค์จึงต้องเก็บงำความรักที่มีต่อเขาเรื่อยมา เพื่อรอคอยวันที่เธอจะกล้าเผยความในใจกับเขาโดยที่ไม่รู้เลยว่าวันนั้นจะมาไม่ถึง

เพราะวันหนึ่งขณะที่เกศสุรางค์และเรืองฤทธิ์เดินทางกลับจากไปทำงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถตู้เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ ส่งผลให้เกศสุรางค์เสียชีวิตคาที่ ! ขณะเดียวกัน ณ อีกช่วงกาลหนึ่งย้อนเวลาไป 333 ปี ใน พ.ศ. 2225 รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดเหตุร้ายขึ้นเมื่อ แม่หญิงการะเกด สาวสวยแต่จิตใจร้ายกาจ สั่งให้ ผิน กับ แย้ม สองบ่าวผู้ซื่อสัตย์ไปล่มเรือของ แม่หญิงจันทร์วาด เหตุเพราะไม่พอใจที่เห็นจันทร์วาดชม้ายชายตาให้ หมื่นสุนทรเทวา หรือ พ่อเดช คู่หมั้นของการะเกด แล้วแผนร้ายครั้งนี้ก็ทำให้บ่าวของแม่หญิงจันทร์วาดจมน้ำตายไปหนึ่งคน แต่แม่หญิงจันทร์วาดรอดชีวิต

ออกญาโหราธิบดีไม่เชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นฝีมือของการะเกด หมื่นสุนทรเทวาจึงต้องหาทางพิสูจน์ด้วยการร่ายมนต์กฤษณะกาลี ซึ่งเป็นมนต์ศักดิ์สิทธิ์โบราณ สาปแช่งผู้ที่คิดร้ายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มีอันเป็นไป แล้วก็เป็นไปตามคาด มนต์กฤษณะกาลีทำให้การะเกดทุรนทุรายจนสิ้นใจตาย โดยมีผินกับแย้มเท่านั้นที่เฝ้าร่างไร้ลมหายใจของการะเกดอยู่ทั้งคืน เพราะไม่กล้าไปบอกใครว่านายของตนตายแล้ว ด้วยฤทธิ์ของมนต์กฤษณะกาลี เพราะนั่นจะทำให้ทุกคนรู้ว่านายของตนเป็นผู้วางแผนทำร้ายแม่หญิงจันทร์วาดจริง ๆ

วิญญาณของการะเกดได้ไปพบกับวิญญาณของเกศสุรางค์ การะเกดสำนึกในการกระทำเลวร้ายของตัวเอง เธอจึงอ้อนวอนขอให้เกศสุรางค์ทำดี แก้ไขความผิดที่เธอเคยทำเอาไว้แทนด้วย ก่อนที่วิญญาณของการะเกดจะเลือนหายไป เมื่อเกศสุรางค์ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง พบว่าตัวเองมาอยู่ในร่างของแม่หญิงการะเกด การะเกดคือเกศสุรางค์ สาวร่างอ้วนที่จิตใจดีมีเมตตา การเปลี่ยนแปลงเหมือนเป็นคนละคนของแม่หญิงการะเกด จากวาจาผรุสวาทเป็นเนืองนิตย์กลายเป็นวาจาอ่อนหวานไม่ถือตัว ซึ่งร้อยวันพันปีการะเกดตัวจริงไม่เคยกระทำ

นับวันเกศสุรางค์ในร่างของแม่หญิงการะเกด ก็เป็นความเคยชินของหมื่นสุนทรเทวาที่จะพูดคุยด้วยที่จะพาไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ในอยุธยา ที่จะตอบคำถามมากมายหลายเรื่องที่เกศสุรางค์สรรหาขึ้นมาถาม ความอยากรู้อยากเห็นของเกศสุรางค์ส่งผลต่อความกระตือรือร้นของหมื่นสุนทรเทวาที่จะตอบ และอธิบาย คำพูดเฉลียวฉลาดฉะฉาน ไม่มีทีท่าเอียงอาย หรือทอดสะพานอย่างที่เคยเป็น แววตาซื่อตรงที่จ้องจับ และคอยฟังคำตอบจากเขา หมื่นสุนทรเทวาไม่รู้ตัวว่าความเกลียดชังแต่ก่อนหายไปไหนหมด ความรู้สึกที่มาแทนที่คือความสนใจไยดี อาทรห่วงหา และร้อนรุ่มยามเธอมีใครอื่นมาสนใจใกล้ชิด ใครคนนั้นไม่ใช่คนเดียว ความหงุดหงิดจึงเป็นทวีคูณ คนแรก หมื่นเรืองราชภักดี เพื่อนสนิท ที่ดูจะสนใจแม่การะเกดเป็นพิเศษ และแม่การะเกดก็ดูจะมีไมตรีตอบ แต่หมื่นสุนทรเทวาไม่รู้สาเหตุว่าเพราะหมื่นเรืองราชภักดีนั้นหน้าตาเหมือนเรืองฤทธิ์ เพื่อนชายที่เกศสุรางค์หลงรักอยู่

เกศสุรางค์ยังพบว่าตนเองตื่นเต้นยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบบุคคลที่เธอรู้จักใกล้ชิดสนิทสนม ได้รับรู้รายละเอียดความเป็นไปในชีวิตคือ ท้าวทองกีบม้า หรือ แม่มะลิ หญิงสาวลูกครึ่งแขก-ญี่ปุ่น ทั้งสองรู้จักกันเพราะฟานิก พ่อของแม่มะลิ ถูกหลวงสุรสาคร ข้าราชการชาวกรีก และฝรั่งคนสนิท ข่มขู่รังแก เกศสุรางค์เห็นจึงเข้าไปช่วยเถียง แค่ผู้หญิงอยุธยาเถียงกับฝรั่งก็เป็นเรื่องที่ผู้คนฮือฮาตกใจลือกันไปทั่วแล้ว แต่ยังโต้เถียงกันเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อของแม่หญิงการะเกดเป็นที่โจษขานกันทั่ว นับว่าดังเพียงชั่วข้ามคืน เกศสุรางค์พบว่าหมื่นสุนทรเทวาเนื้อหอมไม่ใช่ย่อย คนหนึ่งคือแม่หญิงจันทร์วาด ที่เกศสุรางค์ยกให้เป็น กิ๊ก ของคุณพี่หมื่น เนื่องจากแม่หญิงจันทร์วาดรู้ว่าหมื่นสุนทรเทวานั้นเป็นคู่หมายของการะเกด แต่ยังมีทีท่าทอดสะพานอยู่เนือง ๆ ฝ่ายแม่หญิงผู้นั้นทวีความชังการะเกดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสังเกตเห็นว่าหมื่นสุนทรเทวามีสายตาผิดปกติเมื่อมองการะเกด

บุพเพสันนิวาสทำงานไปเรื่อย ๆ ความผูกพันระหว่างแม่หญิงการะเกดตัวปลอมกับขุนนางหนุ่มแห่งอยุธยาก่อตัวขึ้นทีละน้อย ๆ ทีท่านั้นต่างก็รู้กันอยู่แก่ใจ แต่ปากแข็งใจแข็งไม่ยอมรับทั้งคู่ จนวันหนึ่งที่ทั้งคู่ต้องออกเรือนกัน คนที่เสียใจที่สุดคือแม่มะลิ จึงตัดสินใจรับปากจะแต่งงานกับหลวงสุรสาคร เกศสุรางค์ไปงานแต่งงานด้วย และในวันนั้นเองจึงได้รู้ว่าหลวงสุรสาคร คือ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ส่วนแม่มะลิคือ มารี เดอ กีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า บุคคลสำคัญสองคนในประวัติศาสตร์ไทยนั่นเอง

วันหนึ่งเกศสุรางค์ก็ไปได้ยินฟอลคอนคุยกับพวกฝรั่งเศส ว่าจะเผาตลาดแล้วโยนความผิดให้ทหารไทย แล้วในขณะนั้นฟอลคอนเกิดได้กลิ่นน้ำอบของผู้หญิงไทยเข้า จึงรู้ว่ามีใครบางคนอยู่ในบริเวณนั้นก็เลยตามหา และไล่ยิงเกศสุรางค์ จนเธอเกือบจะถูกยิง แต่พ่อเดชมาช่วย และพาหนีไปได้ทัน พ่อเดชทั้งโกรธทั้งเป็นห่วงเกศสุรางค์มากที่ทำตัวเสี่ยงเกินไป จนเขาโพล่งความในใจที่มีต่อหญิงสาวออกมาว่าเขารักเธอ ทำเอาเกศสุรางค์อึ้งไปเลย ใจหนึ่งเธอก็ดีใจที่ได้รับรู้ความรู้สึกของเขา แต่อีกใจเธอก็ต้องหักห้ามใจตัวเอง เพราะคิดว่าสักวันหนึ่งเธอก็จะต้องกลับไปยังโลกของเธอ และเธอเคยปฏิญาณแล้วว่าเธอจะรักเรืองฤทธิ์ผู้เดียวไปตลอดชีวิต ที่สำคัญก็คือว่าพ่อเดชเป็นคนรักของแม่หญิงการะเกด ไม่ใช่ของเธอ เกศสุรางค์จึงทำเป็นไม่ได้ให้ความสำคัญกับคำว่ารักจากพ่อเดช มิหนำซ้ำยังขอให้การแต่งงานเลื่อนออกไป นั่นสร้างความเสียใจให้กับพ่อเดชมาก เพราะเขาคิดไปว่าแม่หญิงการะเกดไม่ได้รักเขาเลย หารู้ไม่ว่าเกศสุรางค์เองก็ต้องหักห้ามใจตนเองเหมือนกัน

วันหนึ่งเกศสุรางค์เข้าไปในห้องทำงานของออกญาโหราธิบดี แล้วเกศสุรางค์ก็เห็นพานอะไรบางอย่างอยู่บนหลังตู้จึงหยิบมาดู โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือบทสวดมนต์กฤษณะกาลี เกศสุรางค์แตะมือลงไปวิญญาณของเธอก็กระเด็นหลุดจากร่างของแม่หญิงการะเกดทันที ! พ่อเดชกลับมาถึงเรือนพอดี จึงได้เห็นวิญญาณของเกศสุรางค์ยืนอยู่ข้าง ๆ ร่างของแม่หญิงการะเกดที่นอนไร้ลมหายใจอยู่บนพื้น ก่อนที่วิญญาณของหญิงสาวผู้นั้นจะเลือนหายไป พ่อเดชปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมามีวิญญาณของหญิงสาวผู้อื่นอยู่ในร่างของการะเกด ส่วนทางด้านวิญญาณของเกศสุรางค์นั้นก็หลุดล่องลอยไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย เกศสุรางค์ร้องไห้ด้วยความกลัวจับใจ และในขณะที่มิติของทั้งสองโลกบรรจบกัน วิญญาณของเธอได้กลับไปยังโลกปัจจุบัน และได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเรืองฤทธิ์ก็รักเธอมากเสียจนขอบวชตลอดชีวิต

เกศสุรางค์ซาบซึ้งใจมาก แล้วขณะที่จ้องพระเรืองฤทธิ์อยู่นั้น เธอก็เห็นเงาสะท้อนของพ่อเดชอยู่ในร่างของเรืองฤทธิ์ เธอจึงเข้าใจแล้วว่า แท้จริงแล้วเรืองฤทธิ์ก็คือพ่อเดชมาเกิดใหม่ แล้วไม่เพียงเท่านั้น เกศสุรางค์ยังได้พบกับแม่หญิงการะเกดที่มาในสภาพที่สวยงาม อันเป็นผลจากบุญที่เกศสุรางค์ทำให้อยู่เรื่อย ๆ การะเกดมาขอบคุณเกศสุรางค์ และมาอนุญาตให้เกศสุรางค์ใช้ร่างของเธอได้ เพราะเธอหมดบุญแล้ว ส่วนเกศสุรางค์นั้นก็ได้หมดบุญในชาติปัจจุบันเช่นกัน แต่กลับไปเกิดใหม่ในชาติอดีตแทน เพื่อที่จะได้ไปครองรักกับเนื้อคู่ของเธอซึ่งก็คือขุนศรีวิศาลวาจา หรือพ่อเดช นั่นเอง เมื่อวิญญาณของแม่หญิงการะเกดเลือนหายไปแล้ว เกศสุรางค์ก็ได้ยินมนต์กฤษณะกาลีอีก เธอรู้ว่าไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตในชาติปัจจุบันได้อีกแล้ว จึงกลับไปกราบลาแม่กับยาย และร้องไห้แทบจะขาดใจก่อนจะกลับเข้าไปในร่างของแม่หญิงการะเกด

เมื่อร่างของการะเกดฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พ่อเดชที่ร่างกายอิดโรยมากจากการนั่งท่องมนต์มาหลายวัน ก็สวมกอดร่างของเธอเอาไว้แน่น และกระซิบบอกข้างหูของเกศสุรางค์ว่า…ไม่ว่าเธอจะเป็นใครมาจากไหน แต่ให้รู้เอาไว้ว่าเธอคือแม่หญิงที่เขาจะรักตลอดไป เกศสุรางค์ดีใจจนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ไหวอีกต่อไป และเธอก็ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะรักเขาอีกต่อไป เพราะพ่อเดชเป็นเนื้อคู่ของเธอที่บุพเพสันนิวาสดลบันดาลให้ทั้งสองได้มาพบกัน

บทประพันธ์โดย : รอมแพง
บทโทรทัศน์โดย : ศัลยา
กำกับการแสดงโดย : ภวัต พนังคศิริ
ผลิตโดย : บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
ควบคุมการผลิตโดย : อรุโณชา ภาณุพันธุ์

นักแสดง
ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ รับบท พ่อเดช/หมื่นสุนทรเทวา
ราณี แคมเปน รับบท เกศสุรางค์/การะเกด
หลุยส์ สก๊อตต์ รับบท หลวงสุรสาคร/คอนสแตนติน ฟอลคอน
สุษิรา แอนจิลีน่า รับบท แม่มะลิ/ตองกีมาร์
ปรมะ อิ่มอโนทัย รับบท เรืองฤทธิ์/พ่อเรือง/หมื่นเรืองราชภักดี
กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล รับบท แม่หญิงจันทร์วาด
นิรุตติ์ ศิริจรรยา รับบท ออกญาโหราธิบดี
ชไมพร จตุรภุช รับบท คุณหญิงจำปา
สุรศักดิ์ ชัยอรรถ รับบท โกษาเหล็ก
ชาติชาย งามสรรพ์ รับบท โกษาปาน
ศรุต วิจิตรานนท์ รับบท พระเพทราชา
จิรายุ ตันตระกูล รับบท หลวงสรศักดิ์
วัชรชัย สุนทรศิริ รับบท ชีปะขาว
รมิดา ประภาสโนบล รับบท แย้ม
จรรยา ธนาสว่างกุล รับบท ผิน
วิศรุต หิมรัตน์ รับบท จ้อย
อำภา ภูษิต รับบท ปริก
วิมลพันธ์ ชาลีจังหาญ รับบท จวง
ปวีณา ชารีฟสกุล รับบท สิปาง
บรรเจิดศรี ยมาภัย รับบท คุณยายนวล
วิศววิท วงษ์วรรณลภย์ รับบท หลวงศรียศ
ซูซานน่า เรโนล รับบท คลาร่า
ไชย ขุนศรีรักษา รับบท ฟานิก
ณฐณพ ชื่นหิรัญ รับบท ศรีปราชญ์

ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ “พ่อเดช” (หมื่นสุนทรเทวา → พระยาวิสูตรสาคร) บุตรชายคนเล็กของออกญาโหราธิบดีกับคุณหญิงจำปา ขุนนางในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขาเป็นตรีทูตผู้ที่ร่วมเดินทางไปกับคณะทูตของโกษาปาน เขาเป็นคู่หมั้นคู่หมายของแม่หญิงการะเกด ในตอนแรกเกลียดชังแม่หญิงการะเกดแต่หลังจากที่พ่อเดชเฝ้าสังเกตแม่หญิงการะเกดที่เปลี่ยนจากเดิมไปบ่อยครั้ง พ่อเดชก็เปลี่ยนมารักแม่หญิงการะเกดสุดหัวใจ

ราณี แคมเปน ยุคอดีต
“แม่หญิงการะเกด” คู่หมั้นคู่หมายของพ่อเดช เธอเป็นหญิงสาวที่มีใบหน้างดงามขัดกับนิสัยของนางที่มีความโหดเหี้ยม เธอสั่งให้บ่าวไปล่มเรือแม่หญิงจันทร์วาด เป็นสาเหตุทำให้เธอโดนมนต์กฤษณะกาลีจนสิ้นใจตายและเธอต้องมาขอความช่วยเหลือจากเกศสุรางค์
ยุคปัจจุบัน
“เกศสุรางค์” นักโบราณคดีสาววัย 25 ปี เธอเป็นคนที่มีนิสัยอ่อนโยน ร่าเริงแจ่มใสและมองโลกในแง่ดีเสมอ เธอมีความเชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและภาษาฝรั่งเศส เธอถูกแม่หญิงการะเกดขอให้ช่วยทำความดีบรรเทาแรงบาปกรรมในร่างของแม่หญิงการะเกด

หลุยส์ สก็อต “คอนสแตนติน ฟอลคอน” (ออกหลวงสุรสาคร → เจ้าพระยาวิชเยนทร์) ชาวกรีกผู้มากความสามารถและมีเส้นสาย รับราชการในแผ่นดินพระนารายณ์ เขาเป็นขุนนางคนโปรดของขุนหลวงนารายณ์ อดีตเป็นเด็กลูกเรือติดมากับเรือสินค้าก่อนได้พบกับโกษาเหล็กและชุบเลี้ยงจนได้ดีในราชสำนักอยุธยาแต่กลับลอบกราบทูลรายงานขุนหลวงนารายณ์ว่าโกษาเหล็กรับเงินสินบน

สุษิรา แอนจิลีน่า แน่นหนา “แม่มะลิ” (มารี กีมาร์ / ท้าวทองกีบม้า) ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เธอเป็นเพื่อนกับแม่หญิงการะเกด เธอแอบรักพ่อเดชแต่ทว่าสุดท้ายแล้วเธอกลับต้องมาแต่งงานกับคนที่เธอไม่ได้รัก

ปรมะ อิ่มอโนทัย ยุคอดีต
“พ่อเรือง” (หมื่นเรืองราชภักดี → พระรามณรงค์) สหายของพ่อเดช มีหน้าตาคล้ายกับเรืองฤทธิ์ เกศสุรางค์จึงเข้าใจผิดว่าเป็นเรืองฤทธิ์ เขาสนิทสนมกับเกศสุรางค์อย่างรวดเร็ว ทำให้พ่อเดชเข้าใจผิดว่าเกศสุรางค์มีใจให้กับพ่อเรือง
ยุคปัจจุบัน
“เรืองฤทธิ์” นักโบราณคดีหนุ่มวัย 25 ปี เพื่อนสนิทของเกศสุรางค์ เขาแอบรักเกศสุรางค์มาตลอดแต่เขาไม่เคยได้เผยความในใจเลยสักครั้ง

กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล “แม่หญิงจันทร์วาด” บุตรสาวของโกษาเหล็กกับคุณหญิงนิ่ม เธอเพรียบพร้อมในด้านงานบ้านงานเรือนและกิริยามารยาท ทำให้คุณหญิงจำปาชอบใจและอยากได้เธอมาเป็นลูกสะใภ้ แถมเธอยังชอบพ่อเดชอีกด้วยจึงทำให้แม่หญิงการะเกดเกลียดชังและสั่งให้บ่าวไปล่มเรือแต่แม่หญิงจันทร์วาดรอดมาได้หวุดหวิด สุดท้ายแม่หญิงจันทร์วาดรับไมตรีเป็นคนรักของพ่อเรือง

นิรุตติ์ ศิริจรรยา “ออกญาโหราธิบดี” บิดาของพ่อศรีกับพ่อเดช เขามีความเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์และอักษรศาสตร์ ราชครูของขุนหลวงนารายณ์

ชไมพร จตุรภุช “คุณหญิงจำปา” มารดาของพ่อศรีกับพ่อเดช เธอเป็นผู้ที่มีความเข้มงวดในจารีตประเพณีและเกลียดชังความร้ายกาจของแม่หญิงการะเกดเป็นอย่างยิ่ง

จิรายุ ตันตระกูล “พ่อเดื่อ” (ออกหลวงสรศักดิ์ → พระเจ้าเสือ) บุตรชายบุญธรรมของออกพระเพทราชาและเป็นราชโอรสลับของขุนหลวงนารายณ์ เขามีนิสัยมุทะลุไม่ยอมลงให้ผู้ใดและมีความสามารถในศิลปะการต่อสู้เป็นเลิศ (ในอนาคตได้ปราบดาภิเษกเป็น พระเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 29)

ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง “ขุนหลวงนารายณ์” พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 27

ศรุต วิจิตรานนท์ “พ่อทองคำ” (ออกพระเพทราชา → สมเด็จพระเพทราชา) ขุนนางคนสำคัญที่รั้งตำแหน่งเจ้ากรมคชบาล ต่อมายึดอำนาจจากขุนหลวงนารายณ์โดยร่วมกับออกหลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตรชายบุญธรรมและปราบดาภิเษกเป็น สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 28 ปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

ชาติชาย งามสรรพ์ “โกษาปาน” (พระยาวิสูตรสุนทร → เจ้าพระยาโกษาธิบดี) น้องชายของโกษาเหล็ก โกษาปานเป็นราชทูตนำพระราชสาส์นจากขุนหลวงนารายณ์ไปถวายให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสและได้เลื่อนยศเป็น “เจ้าพระยาโกษาธิบดี” เช่นเดียวกับโกษาเหล็กผู้เป็นพี่ชาย

สุรศักดิ์ ชัยอรรถ “โกษาเหล็ก” (เจ้าพระยาโกษาธิบดี) ขุนศึกคู่พระทัยของขุนหลวงนารายณ์แต่ด้วยต้องความผิดถูกกล่าวโทษข้อหา รับส่วยเพื่อไม่ให้สร้างป้อม ทำให้บุคคลระดับเจ้าพระยาผู้นี้ต้องจบชีวิตลง ในเรื่องเป็นบิดาของแม่หญิงจันทร์วาด

รัชนี ศิระเลิศ “คุณหญิงนิ่ม” มารดาของแม่หญิงจันทร์วาด มีนิสัยหยิ่งทนงในยศศักดิ์

อำภา ภูษิต “ปริก” บ่าวของคุณหญิงจำปา

วิมลพันธ์ ชาลีจังหาญ “จวง” บ่าวของคุณหญิงจำปา

จรรยา ธนาสว่างกุล “ผิน” บ่าวของแม่หญิงการะเกด

รมิดา ประภาสโนบล “แย้ม” บ่าวของแม่หญิงการะเกด

วิศรุต หิมรัตน์ “จ้อย” ทนายหน้าหอ บ่าวคนสนิทของพ่อเดช

บุพเพสันนิวาส เป็นละครโทรทัศน์แนวย้อนยุค ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ผลิตโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เขียนบทโทรทัศน์โดย ศัลยา ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ รอมแพง กำกับการแสดงโดย ภวัต พนังคศิริ นำแสดงโดย ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, ราณี แคมเปน, หลุยส์ สก๊อต, สุษิรา แอนจิลีน่า แน่นหนา, ปรมะ อิ่มอโนทัย และ กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล ทางผู้จัดละครมีแผนจะออกอากาศภาคต่อจากเรื่องบุพเพสันนิวาสเร็ว ๆ นี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต “

งานสร้าง
บุพเพสันนิวาส เป็นละครรักที่อิงประวัติศาสตร์ ช่วงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ สร้างจากบทประพันธ์ของรอมแพง ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 สร้างโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด ผู้สร้างละครเห็นว่า นวนิยาย เนื้อเรื่องโดดเด่น สนุกสนาน ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างยุค ยังมีเรื่องรักโรแมนติก บวกกับการได้เจอประวัติศาสตร์มีชีวิต ผ่านการใช้ชีวิตกับบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคนั้น และยังได้เปิดลงโหวตว่า อยากให้นำนวนิยายเรื่องใดมาสร้างเป็นละคร ผลปรากฏว่าเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง จากนั้นได้ผู้เขียนบทคือ ศัลยาหรือ ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ที่เคยเขียนบทละครดังอาทิ นางทาส, คู่กรรม, ดอกส้มสีทอง, ดอกโศก, แค้นเสน่หา, ภาพอาถรรพณ์ และ ทรายสีเพลิง นอกจากนั้นยังเคยเขียนบทละครย้อนยุคอย่าง รัตนโกสินทร์ และ สายโลหิต ศัลยาออกปากว่าเป็นบทที่ยากมาก เพราะถึงจะมีโครงบทประพันธ์ แต่ผู้เขียนบทต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งบทสนทนา ทำให้ละครมีเนื้อเรื่องที่ยาวกว่าหนังสือเสียอีก หลายตัวละครในเรื่อง มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็มีเพียงเค้าโครงเท่านั้น ศัลยาจึงกำหนดขึ้นเองให้สอดคล้อง ตราบเท่าที่มีข้อมูล ส่วนที่ยากอีกส่วนคือ ในการเขียนบทละครคือ การวางฉาก คำพูด การแก้ปัญหาความขัดแย้งในละคร กว่าจะเป็นบทละครเรื่องนี้ ต้องเขียนถึงร่างที่ 7 ซึ่งเป็นร่างสุดท้าย โดยใช้เวลาเขียนบทละครนาน 2 ปี และใช้เวลาถ่ายทำนาน 2 ปี และเพื่อความสมจริงทางประวัติศาสตร์ ก็ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาคือ เผ่าทอง ทองเจือ และ วิโรจน์ ศรีสิทธิ์เสรีอมร

บรอดคาซท์เลือกผู้กำกับการแสดงคือ ภวัต พนังคศิริ เพราะเห็นว่ากำกับละครได้หลายแนว และยังเคยทำละครย้อนยุคอย่าง บ่วง ภวัตมีความละเอียดในการถ่ายทำซึ่งเหมาะกับ บุพเพสันนิวาส ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยรายล้อมมากมาย สำหรับการคัดเลือกนักแสดงนั้น การเลือก ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ มาเป็น หมื่นสุนทรเทวา เพราะเห็นว่า มีบุคลิกดูอบอุ่นเข้ากับบุคลิกพระเอก สำหรับบทนี้ เคยวางไว้ว่าเป็น เจษฎาภรณ์ ผลดี ขณะที่ราณี แคมเปน มารับบทเกศสุรางค์และแม่หญิงการะเกด เพราะมองว่าน่าจะเล่นบทบาทเป็นหลายคน หลายบุคลิกได้ แต่ก่อนหน้านั้น บทนี้เคยวางตัวให้อารยา เอ ฮาร์เก็ต เป็นผู้แสดง แต่ปฏิเสธไป เนื่องจากโตเกินบท ต่อมาผู้สร้างทาบทาม ณฐพร เตมีรักษ์ แต่ท้ายสุดบทนี้ตกเป็นของ ราณี แคมเปน ละครเรื่องนี้ยังได้นักแสดงอาวุโส บรรเจิดศรี ยมาภัย ในวัย 93 ปี มาแสดงเรื่องนี้ เนื่องจากอยู่ในวัยชรา ผู้กำกับละครจึงบอกไม่ต้องท่องบท ใช้วิธีบอกบทเหมือนละครโทรทัศน์ยุคแรก ๆ

ในการถ่ายทอดละครจากบทประพันธ์และบทละครมาเป็นละคร ผู้กำกับยังหาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากบทละคร สิ่งที่ภวัต ว่ายากคือการตีความความรู้สึกและเป็นกลางที่สุดในฉากประวัติศาสตร์ โดยตนตั้งใจที่สร้างคาแร็กเตอร์ในตัวละคร ให้คนดูจำและสัมผัสได้ ถึงแม้ว่าจะมาเพียงนิดเดียว เช่น ฉากที่พระเพทราชาและสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เถียงกันกลางท้องพระโรง หรือ อย่างฉากที่คลังสินค้าของอังกฤษถูกเผา ซึ่งในนวนิยายเขียนว่า ขุนเรือง หลวงสรศักดิ์ เป็นคนไปเผา จึงต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทำไมเผา ใครเป็นคนเผา ถึงแม้ในข้อมูลจะไม่ได้บอกว่าใครเผา แต่ก็ต้องหาเหตุผลให้คนดูยอมรับได้

ในการเนรมิตฉากต่าง ๆ ในสมัยอยุธยา มีการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างหนัก ทำเป็นสตอรีบอร์ดก่อนถ่ายทำ โดยสถานที่ถ่ายทำที่มีอยู่จริง เช่น กำแพงเมือง หรือวัดไชยวัฒนาราม ก็เก่าแก่ ต้องทำขึ้นใหม่ให้เหมือนบทประพันธ์ ส่วนฉากที่ไม่หลงเหลือแล้ว ก็สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยเทคนิคการสร้างภาพ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากที่ต้องสวยและถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เรือนไทย ที่เป็นฉากหลักก็ดูหรูหราเหมาะกับตำแหน่งของครอบครัวพระเอก มีข้าวของ ตามแบบยุคอยุธยาวางอยู่ นอกจากนั้น ในฉากที่สะท้อนวัฒนธรรม เช่น ฉากการทำขนมหวาน ก็เชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการทำขนมไทยโบราณมาทำให้ หรือฉากคุณหญิงจำปาสอนการเรือนการะเกด ก็ได้เห็นผักแกะสลักอลังการ นอกจากนั้นยังมีฉากที่ลงทุนแรงงานสร้างอย่างมากเช่น ฉากตลาดจีน ที่สร้างทั้งตลาดขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำจริงฉากเดียว ใช้เวลาถ่ายในสตูดิโอ 2 วัน แต่ออกมาเพียง 2 นาที รวมถึงฉากท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ที่ทางค่ายตั้งใจสร้างออกมาให้สวยเหมือนภาพในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เรียนกัน สถานที่ถ่ายทำในเรื่องฉากอื่น เช่น เมืองโบราณ ฉากในเรือ พายเรือ มีการสร้างท่าน้ำขึ้นมาใหม่ในช่อง 3 หนองแขม

ส่วนเครื่องแต่งกายตัวละคร ผู้ออกแบบชุดแต่งกายคือ กิจจา ลาโพธิ์ ที่เคยออกแบบให้ละครเรื่อง ขุนศึก, ลูกทาส, ข้าบดินทร์ กิจจาที่ได้ออกแบบจากการค้นคว้าข้อมูลจากบันทึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม พงศาวดาร ภาพเขียนจิตรกรรม สมุดข่อย สมุดไทย หรือแม้แต่ตู้พระธรรมเขียนลายทองเก็บหนังสือใบลาน โดยได้ออกแบบใหม่หมดตั้งแต่สี ลายผ้า เครื่องประดับจนถึงหัวเข็มขัด ตามบุคลิกตัวละครและตามยศศักดิ์ ผู้หญิงใส่สไบ ใส่เครื่องทอง มีทั้งโจงกระเบน เสื้อคอตั้ง เสื้อแขนกระบอก การแต่งกายในวาระต่าง ๆ ด้วย มีการออกแบบลายผ้าขึ้นมาใหม่ และชุดแต่งงานเครื่องทอง นอกจากนี้ ทรงผมแต่ละคนก็อ้างอิงจากทรงผมจริงสมัยอยุธยา

ดนตรีประกอบมีทั้งขลุ่ย ซออู้ ขิม ซึ่งได้ผู้เล่นดนตรีไทยฝีมือระดับครูมาทำดนตรีประกอบให้

เนื่องจาก บุพเพสันนิวาส ประสบความสำเร็จอย่างสูงทำให้ช่อง 3 ประกาศทำ บุพเพสันนิวาส ฉบับพิเศษ ออกอากาศต่อเนื่องในวันที่ 12, 18 และ 19 เมษายน 2561 จำนวน 3 ตอน สำหรับฉบับพิเศษนี้เป็นการตัดต่อย่อจากฉบับเดิม เล่าเรื่องราวความรักที่เริ่มจากความเกลียดชังจนกลายเป็นความรักในมุมมองของการะเกดและพ่อเดช และเพิ่มภาพเบื้องหลังการถ่ายทำนานขึ้นกว่าเดิมด้วย

หลังจากนั้น 1 เดือน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ก็นำ บุพเพสันนิวาส มารีรันซ้ำอีกครั้งในช่วงละครเย็น วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี เวลา 19.05-20.05 น. และวันศุกร์ เวลา 18.45-19.45 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป การออกอากาศครั้งนี้ได้มีการตัดต่อเนื้อหาใหม่ทั้งหมดโดย บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด เปลี่ยนไตเติลเป็นคอนเซ็ปต์ สุริยัน-จันทรา พร้อมเรียบเรียงซาวน์ประกอบและเพิ่มฉากที่ถูกตัดออกไปในการออกอากาศครั้งแรก จนกลายเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สุด ใช้ชื่อว่า บุพเพสันนิวาส ฉบับจัดเต็ม หรือ บุพเพสันนิวาส ฉบับ Director’s Cut

เพลงประกอบ
เพลงประกอบละคร “บุพเพสันนิวาส” มี 4 เพลงคือเพลง “เพียงสบตา” ขับร้องโดย ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ แต่งเพลงโดย ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ เพลงนี้ลิเดียได้ออกแบบการร้องผสมผสานความเป็นไทยเข้าไปในเพลงด้วย อีก 3 เพลงคือเพลง “ออเจ้าเอย” ขับร้องโดย พีท พล, เพลง “เธอหนอเธอ” ขับร้องโดย แนน วาทิยา, เพลง “บุพเพสันนิวาส” ขับร้องโดย ไอซ์ ศรัณยู วินัยพานิช แต่งเพลงโดย วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ โดยเพลง “บุพเพสันนิวาส” เป็นเพลงหลักของเรื่องที่สื่อเนื้อหาถึงสายใยความรัก ความผูกพันของคู่รักที่เกิดมาเคียงคู่กันเปรียบดั่งเป็นบุพเพสันนิวาส ส่วนเพลง “ออเจ้าเอย” ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ ผู้บริหารค่ายเพลง Chanderlier Music ให้ วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ แต่งหลังจากคำว่า “ออเจ้า” เป็นคำพูดติดปากกันทั่วเมือง มีรูปแบบการร้องที่มีการเอื้อนเอ่ยแบบเพลงไทยเดิม ภาคดนตรีที่มีท่วงทำนองแบบไทยร่วมสมัยและมีเสียงซอสีคลอไปตลอดทั้งเพลง เพลงประกอบละครบุพเพสันนิวาสนอกจากจะโด่งดังใน ประเทศไทย แล้ว ใน ประเทศกัมพูชา เพลง “ออเจ้าเอย” ยังขึ้นอันดับที่ 1 บน ไอจูนส์ ตามมาด้วยเพลง “บุพเพสันนิวาส” อยู่อันดับที่ 2 และเพลง “เพียงสบตา” อยู่ในอันดับที่ 5 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561  และเพลงที่ 4 “เธอหนอเธอ” ขับร้องโดย แนน วาทิยา ที่ถ่ายทอดความรู้สึกของแม่หญิงการะเกดที่มีต่อคุณพี่เดช

สำหรับบทเพลง “จันทร์” ที่ขับร้องโดย โจ้ ธณรัฐ ปิ่นเวหา ในสังกัดของ อาร์เอส ที่ปรากฏในนิยาย แต่ไม่ปรากฏในละครเนื่องจากติดลิขสิทธิ์จากค่ายต้นสังกัด ทำให้ในละครเปลี่ยนจากร้องเพลง “จันทร์” มาร้องเพลง “ออเจ้าเอย” แทน 

นอกจากนี้ยังมีเพลง “ออเจ้าเอย” เวอร์ชันพิเศษที่ขับร้องโดย ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ  และ “เธอหนอเธอ” เวอร์ชันพิเศษที่ขับร้องโดย ราณี แคมเปน  เพิ่มมาในบุพเพสันนิวาสฉบับพิเศษอีกด้วย

ดีวีดีและซีดี
ดีวีดีของละคร บุพเพสันนิวาส ออกวางจำหน่าย วันที่ 11 เมษายน ดีวีดี 1 ชุดมี 11 แผ่น ประกอบด้วยละคร เบื้องหลังการถ่ายทำ เปิดกองละคร มิวสิกวิดีโอ 4 เพลง รายการ บุพเพสันนิวาสวันละคำ และสมุดภาพ 16 หน้า

ส่วนซีดีเพลงประกอบละคร นอกเหนือจากเพลง 4 เพลงที่ประกอบละครแล้วยังมีเพลงบรรเลงพิเศษและแบ็กกิงแทร็ก (backing track) พร้อมรูปภาพนักแสดง Photobook และโปสการ์ดสุ่มรูปนักแสดงนำ 6 แบบ

คำวิจารณ์และความสมจริง
แม้ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส จะสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงของผู้ชมเป็นหลัก แต่ก็ยังมีผู้ให้ข้อติติงไว้ ทั้งในเรื่องความสมจริงทางการเมืองและด้านศิลปะวัฒนธรรม วรรษชล ศิริจันทนันท์ นักเขียนจากเดอะโมเมนตัม เอาแนวคิดประวัติศาสตร์การเมืองฝ่ายซ้ายวิเคราะห์ละครเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นละครหลังข่าวที่แม้จะยังคงความสนุกและความบันเทิง “แต่ก็ยังมี ‘คราบ’ ของอุดมการณ์ชาตินิยมและการชื่นชมความสงบสุขของอยุธยาแทรกเข้ามาอยู่เป็นระยะ จนผู้ชมเกิดอารมณ์โหยหาอดีต” โดยวรรษชลโต้แย้งว่า บุพเพสันนิวาส นำเสนอภาพในอดีตที่มองข้ามความขัดแย้งของคนไทยในราชสำนัก โดยนำเสนอว่าสังคมและวัฒนธรรมของอยุธยาเป็นสังคมที่ “สงบสุข ไม่มีการคอรัปชั่น และมีฝรั่งเป็นส่วนเกิน” เพื่อสนองความปรารถนาของผู้ชมบางส่วนซึ่ง “ไม่พอใจในปัจจุบันอันแสนจะวุ่นวาย เต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไร้ซึ่งความปรองดอง จนเกิดความโหยหาอดีต” นฤเบศ กูโน ผู้กำกับและนักเขียนบทละคร แสดงความเห็นว่าเพราะความสำเร็จของละครเกิดจากบทละครที่ดีและเคมีของนักแสดงที่เข้ากัน ขณะที่วัฒนธรรมการดูละครของคนไทยมีความคล้ายคลึงกับคนเกาหลี คือ ชื่นชอบละครตลก พระนางไม่ถูกกัน มีบทพูดเชือดเฉือน แต่แอบแสดงออกเล็กน้อยว่ารัก ส่วนเว็บไซต์สนุก.คอม วิเคราะห์ความสำเร็จของละครเรื่องนี้ว่า “สะท้อนให้เห็นสูตรสำเร็จของละคร และการนำเสนอประวัติศาสตร์ไทยผ่านละครแนวใหม่ ที่มีความเข้ากันของพระนางเป็นตัวชูโรง จนสร้างความน่าสนใจในประวัติศาสตร์ไทยให้กับคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมามองมากขึ้น” ด้านงานออกแบบงานสร้าง มติชน วิจารณ์ว่า “อยู่ในมาตรฐานดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากที่นำเสนอฉากสมเด็จพระนารายณ์ทรงโน้มกายรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จากเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ ราชทูตฝรั่งเศส ตามรอยภาพวาดโบราณซึ่งหลายคนคุ้นตาเป็นอย่างดี”

เนื่องจากเป็นละครที่มีฉากหลังอิงประวัติศาสตร์ จึงได้รับคำวิจารณ์เรื่องความสมจริง ลุพธ์ อุตมะ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย วิจารณ์ว่า “เครื่องนุ่งห่มในเรื่องนี้ ในส่วนของชาวสยามมีการวิจัยและจัดทำได้สวยงามเหมาะสม แม้ว่าจะมีการใช้ผ้านุ่งจากประเทศราช และหัวเมืองทางเหนือมาใช้ร่วมด้วย เป็นการสื่อสารได้อย่างดีถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและชาติพันธุ์ในสมัยนั้น ทว่าตัวละครที่ไม่ใช่คนสยามนั้นกลับพบว่ามีข้อบกพร่อง เรื่องการออกแบบ การตัดเย็บและการใช้ผ้าที่ถูกลักษณะ” โดยเขาชี้ข้อบกพร่อง อย่างเช่น คอนสแตนติน ฟอลคอน และมาเรีย กีมาร์ เนื่องจากรูปแบบหรือ แพทเทิร์นเป็นแบบสมัยใหม่และผิดสัดส่วนเป็นอย่างมาก กิจจา ลาโพธิ์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายในละคร ชี้แจงว่า เสื้อผ้าชาวต่างชาติในละครเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง การออกแบบพัฒนาขึ้นจากข้อมูลที่ค้นคว้า และพยายามที่จะทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด แต่ก็ได้เพิ่มรายละเอียดเพื่อความสวยงามและให้เหมาะสมกับตัวนักแสดง นอกจากนี้ทางสถานีที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของตัวละครเอกให้ดูแตกต่างจากตัวละครตัวอื่น จึงเป็นเหตุให้ตัวละครเหล่านี้ฟันไม่ดำ

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบข้อผิดพลาดในด้านรายละเอียด ชี้ว่า อย่างฉากที่เห็นป้อมเพชร พิจารณาในช่วงเวลาในบทประพันธ์ และดูหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ สภาพของป้อมน่าจะทรุดโทรมมาก หรือไม่ก็ กำลังได้รับการปรับปรุงโดยนายช่างฝรั่งเศสชื่อ เดอ ลามาร์

การสำรวจความเห็น
จากการสำรวจแบบสอบถามสวนดุสิตโพล จำนวนทั้งสิ้น 1,272 คนระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2561 สำรวจเรื่อง “ละคร บุพเพสันนิวาส ในทัศนะประชาชน” จากหัวข้อประชาชนคิดอย่างไร กับละคร บุพเพสันนิวาส โดยอันดับ 1 เห็นว่าละคร สนุกสนาน ให้ทั้งข้อคิดและความบันเทิง จากการสำรวจของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล จำนวนทั้งสิ้น 1,185 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-16 มีนาคม เมื่อสอบถามถึงตัวละคร บุพเพสันนิวาส ที่แสดงได้ดีที่สุด พบว่า ร้อยละ 54.4 ระบุราณี รองลงมาคือร้อยละ 21.1 ระบุธนวรรธน์

กระแสตอบรับในต่างประเทศ
นอกจากจะได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทยแล้ว ละคร บุพเพสันนิวาส ยังโด่งดังใน weibo หรือสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดของจีนอีกด้วย โดยมีการกล่าวถึง บุพเพสันนิวาส ในแฮชแท็ก 泰剧天生一对 จนขึ้นเทรนด์อันดับ 1 มียอดผู้ชมชาวจีนดูละคร บุพเพสันนิวาส แบบสดออนไลน์ผ่านทางช่อง HBO กว่า 100,000 คน และมีการทำซับไตเติลภาษาจีนให้ละครเรื่องนี้ทั้งที่ยังไม่ได้ซื้อขายลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการและไม่มีการโปรโมตแบบเต็มตัว ยิ่งไปกว่านั้นหลังละคร บุพเพสันนิวาส จบไปสามสัปดาห์ แฮชแท็ก 泰剧天生一对 ก็ยังคงทะยานขึ้นอันดับ 1 ใน weibo อีกครั้งด้วยยอดวิวสูงกว่า 900 ล้านครั้ง

ประเทศกัมพูชาได้ซื้อลิขสิทธิ์ละคร บุพเพสันนิวาส ไปแพร่ภาพแล้ว โดยจะออกอากาศทางช่อง PNN TV ใช้ชื่อเรื่องว่า បុព្វេសន្និវាស เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2561 ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 2 รอบ เวลา 18.00-19.00 น. และ 22.00-23.00 น. ปี 2562 บุพเพสันนิวาส เป็น 1 ในละคร 8 เรื่องที่ออกอากาศบนสถานีโทรทัศน์ประเทศเกาหลีใต้ บนสถานี TVA PLUS และ SMILE PLUS ออกฉายทางช่อง RTV (Rajawali TV ฟรีทีวีของอินโดนีเซีย), ทางสถานีโทรทัศน์ TVB J2 ที่รับชมได้ในฮ่องกงและมาเก๊า, สถานีโทรทัศน์ TVA Plus (เพย์ทีวีในเกาหลีใต้) และทางออนไลน์ทางช่อง Dim Sum ของมาเลเซีย นอกจากนั้นยังมีอยู่ในเน็ตฟลิกซ์ ที่รับชมได้ในประเทศอินเดีย, ญี่ปุ่น, เนปาล, ลาว, มาเลเซีย, มองโกเลีย, พม่า, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, ไต้หวัน และ เวียดนาม

ผลสืบเนื่อง

จากความโด่งดังของละคร ทำให้มีการจัดทัวร์การท่องเที่ยว เช่น ที่วัดไชยวัฒนาราม รวมถึงโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ก่อนละครออกอากาศ วันธรรมดาจันทร์ถึงศุกร์ มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว 800-900 คนต่อวัน แต่หลังละครออกอากาศ มีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็นเฉลี่ยวันละ 4,000 คน ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์ เดิมมีนักท่องเที่ยวราว 3,300 คน เมื่อละครออกอากาศ เพิ่มขึ้นเป็น 18,300 คน นักท่องเที่ยวยังนิยมแต่งชุดไทยมายังสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นถึงวันละ 2,000-3,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการจัดการท่องเที่ยวในสถานที่เป็นฉากของละคร เช่น อยุธยา ลพบุรี โดยมีมัคคุเทศก์เป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในช่วงที่ละครออกอากาศ เศรษฐกิจพระนครศรีอยุธยาขยายตัว 33% มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศถึง 2% ของจีดีพี หรือราว 300,000 ล้านบาท จากผลผลิตมวลรวมที่ 15 ล้านล้านบาท

ทางด้านการตลาด ตราสินค้าต่าง ๆ อาศัยเนื้อหาในละครเชื่อมโยงกับตราสินค้า ดังจะเห็นได้จากตราสินค้าและเพจบนเฟซบุ๊กต่าง ๆ เล่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับละคร แบบการตลาดแบบทันกาล (real-time marketing) เช่นประเด็น หมูกระทะ, กุ้งย่าง, มะม่วงน้ำปลาหวาน, หมูสร่ง, ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง, ออเจ้า ฯลฯ

นอกจากผลตอบรับทางการตลาด ตัวละครยังได้รับการต่อยอดออกไปเป็นภาคต่ออีกถึงสองสื่อด้วยกัน สื่อแรก เป็นละครโทรทัศน์เรื่อง พรหมลิขิต เป็นเรื่องราวภาคต่อในรุ่นลูกหลังจากความรักของพ่อเดชและเกศสุรางค์ ผลิตโดย บีอีซี-มัลติมีเดีย และบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น มีกำหนดออกอากาศใน พ.ศ. 2565 และสื่อที่สอง เป็นภาพยนตร์ภาคต่อเรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 เป็นเรื่องราวในอีกชาติภพหนึ่งเมื่อพ่อเดชและเกศสุรางค์มาเกิดใหม่ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผลิตโดย จีดีเอช ห้าห้าเก้า และจอกว้าง ฟิล์ม ร่วมกับ บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น นำแสดงโดยพระนางคู่เดิม คือ ราณี แคมเปน และธนวรรธน์ วรรธนะภูติ กำกับการแสดงโดย อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม มีกำหนดออกฉายในโรงภาพยนตร์ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565 มีการเผยแพร่ บุพเพสันนิวาสเว็บตูน (Love Destiny) ในช่องยูทูบเว็บตูน ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอ่านการ์ตูนจากเกาหลี วาดโดยนักวาดจากประเทศเกาหลี

เรตติ้ง
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ลงผัง บุพเพสันนิวาส คืนวันพุธและพฤหัส ในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 20.20-22.50 น. กลยุทธ์ที่ช่อง 3 นำมาใช้คือ เนื้อหาละครช่วงแรกมีความยาว 25 นาที เพื่อให้ลงโฆษณาได้อย่างเต็มที่ และค่อย ๆ ลดช่วงละครลงจนเบรกที่ 9 เบรกสุดท้าย ลดเวลาเหลือเพียง 6 นาที เพื่อยึดให้คนดูไว้ให้นานที่สุด

ออกอากาศวันแรก เรตติ้งทั่วประเทศจากการสำรวจของ AGB Nielsen ในช่วงละครหลังข่าว เป็นอันดับ 3 มีเรตติ้ง 3.4 เป็นรองอันดับ 1 มือปราบเหยี่ยวดำ ทางช่อง 7 ซึ่งเป็นละครบู๊ มีเรตติ้ง 5.5 และอันดับ 2 เรือนเบญจพิษ ทางช่องวัน ซึ่งอยู่ในช่วงท้ายของละคร มีเรตติ้ง 3.7 ต่อมาในตอนที่ 2 บุพเพสันนิวาส มีเรตติ้งทั่วประเทศขึ้นมาอันดับ 2 ยังคงเป็นรอง มือปราบเหยี่ยวดำ แต่เรตติ้งเรื่องดังกล่าวลดลงจาก 5.5 มายัง 4.9 แต่เรตติ้งของ บุพเพสันนิวาส ในกรุงเทพและหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัดเป็นอันดับ 1 แต่พื้นที่เขตนอกเมืองเป็นรอง มือปราบเหยี่ยวดำ จนในตอนที่ 3 เรตติ้งทั่วประเทศ บุพเพสันนิวาส มีเรตติ้ง 7.3 แซง มือปราบเหยี่ยวดำ ที่มีเรตติ้ง 5.4 เรตติ้งตอนที่ 4 เรตติ้งทั่วประเทศคือ 8.2 มีเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ 4 ตอนแรก 5.964 เป็นรองเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ 4 ตอนแรกของ นาคี ในปี 2559 ที่ 7.713 เรตติ้งเฉลี่ย 4 ตอนของ บุพเพสันนิวาส มีผู้ชมผู้หญิงถึง 7.707 ส่วนผู้ชาย 4.136 จาก 6 ตอนแรก มีเรตติ้งเฉลี่ยทั่วประเทศ 8.005 โดยกลุ่มอายุผู้ชม ที่รับชมมากที่สุดใน 6 ตอนแรกคือ 35-39 ปี รองลงมาคือ 40-49 ปี ตอนที่ 7 บุพเพสันนิวาส ยังคงมีเรตติ้งทั่วประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ 14.8 ขณะเดียวกันช่อง 7 มีละครเรื่องใหม่ออกฉายวันแรกเรื่อง ชาติลำชี ซึ่งเป็นละครเพลงแนวบู๊ เปิดตัวที่ 3.6 ในตอนที่ 10 ยังมีเรตติ้งทั่วประเทศดีอยู่ที่ 16.0 แม้ทางช่องไทยรัฐทีวีจะถ่ายทอดสดฟุตบอลคิงส์คัพ นัดฟุตบอลทีมชาติกาบองพบฟุตบอลทีมชาติไทย ที่มีเรตติ้ง 3.0 ในตอนที่ 11 บุพเพสันนิวาส มีเรตติ้งทั่วประเทศ 17.4 ได้สร้างสถิติละครที่มีเรตติ้งสุงสุดนับตั้งแต่มีทีวีดิจิตัลในปี 2557 หลังจากนั้นเรตติ้งทั่วประเทศหยุดนิ่งอยู่ที่ 17.4 ในตอนที่ 12 และ 13 รวมสามตอนติดต่อกัน ก่อนจะขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 17.9 ในตอนที่ 14 และสำหรับตอนจบ ตอนที่ 15 นั้น มีเรตติ้งทั่วประเทศสูงสุดกว่าทุกตอน ที่ 18.6 หรือมีคนดูเฉลี่ย 12.2 ล้านคน และเรตติ้งเฉลี่ยทุกตอนอยู่ที่ 13.247 หรือมีคนดูเฉลี่ย 8.8 ล้านคนต่อตอน ซึ่งเอาชนะเรตติ้งเฉลี่ยละคร นางชฎา ในปี 2558 ของช่อง 7 ที่ 11.465 และ นาคี ในปี 2559 ของช่อง 3 ที่ 10.927  ทำให้ บุพเพสันนิวาส เป็นละครที่ได้รับความนิยมสูงสุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอลเมื่อปี 2558

บุพเพสันนิวาส ฉบับจัดเต็ม หรือ บุพเพสันนิวาส ฉบับ Director’s Cut เรตติ้งเปิดตัวในตอนแรกสูงถึง 6.0

รางวัลที่ชนะ

ละครดีเด่นบุพเพสันนิวาส
ผู้จัดละครยอดเยี่ยมอรุโณชา ภาณุพันธุ์
นักแสดงนำชายยอดนิยมธนวรรธน์ วรรธนะภูติ
นักแสดงนำหญิงยอดนิยมราณี แคมเปน
นักแสดงดาวรุ่งชายยอดเยี่ยมวิศรุต หิมรัตน์
รางวัลศิลปินต้นแบบผู้ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ไทยแก่อนุชนรุ่นหลังทีมนักแสดงบุพเพสันนิวาส
รางวัลเณศไอยรา

ฉากไวรัลยอดเยี่ยม (Best Viral Scene)เอาแบบ ‘พี่กิ๊ก สุวัจนี’ ก็แล้วกัน (ตอนที่ 1)
ฉากคอมเมดี้ยอดเยี่ยม (Best Comedy Scene)คุยกับ ‘พี่หมื่น’ แค่นี้ ทำไม ‘ตาหมื่น’ ต้องมาขัดด้วย (ตอนที่ 4)
คอนเทนต์ที่สุดแห่งปี (Content of the Year)บุพเพสันนิวาส
ไลน์ทีวีอวอร์ด 2019

รางวัลเพลงละครดีเด่น"บุพเพสันนิวาส" ขับร้องโดย ศรัณยู วินัยพานิช
รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่นศัลยา สุขนิวัตติ์
รางวัลผู้กำกับดีเด่นภวัต พนังคศิริ
รางวัลดาราสนับสนุนชายดีเด่นหลุยส์ สก๊อต
รางวัลดารานำหญิงดีเด่นราณี แคมเปน
รางวัลละครดีเด่นบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 33

ละครโทรทัศน์แห่งปีบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
นักแสดงหญิงแห่งปีราณี แคมเปน
ไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 12

ละครยอดเยี่ยมบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมราณี แคมเปน
บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยมศัลยา สุขนิวัตติ์
เพลงละครยอดเยี่ยม“บุพเพสันนิวาส” ขับร้องโดย ศรัณยู วินัยพานิช
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 10