ละคร คู่กรรม 2556 (EP.1-16 ตอนจบ) HD END

เกิดมาคู่กัน – บี้ สุกฤษฎิ์ [Official MV] ห้ามใจ (Ost.คู่กรรม) – หนูนา [Official MV]

ละคร คู่กรรม 2556

อังศุมาลิน ชลาสินธุ์ (หนึ่งธิดา โสภณ) เติบโตมาท่ามกลางความรักของ แม่อร (ปวีณา ชารีฟสกุล) กับ ยาย (โฉมฉาย ฉัตรวิไล) ที่บ้านริมคลองบางกอกน้อย โดยปราศจากความไยดีของพ่อที่เป็นนายทหารระดับสูงแห่งกองราชนาวีไทย ชื่อ หลวงชลาสินธุราช (จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี) ที่ไปมีครอบครัวใหม่เพื่อความก้าวหน้าทางการงาน อังศุมาลินมีเพื่อนชายที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็กคือ วนัส (นภัทร อินใจเอื้อ) ก่อนเดินทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ วนัสได้ขอความรักจากอังศุมาลิน แต่เธอขอให้คำตอบในวันที่เขาเรียนจบกลับมาเสียก่อน โดยทั้งคู่สัญญาว่าจะรอกัน

อังศุมาลินเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นกับ หมอโยชิ (อุดมพร คชหิรัญ) ทันตแพทย์ชาวญี่ปุ่นแถวตลาด ใกล้บ้าน แต่พอเกิดสงครามเขากลับแต่งเครื่องแบบทหารและประกาศตัวว่าเป็นคนของกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกราน ทำให้อังศุมาลินผิดหวังและโกรธแค้น วันหนึ่งอังศุมาลินก็ได้พบกับ โกโบริ (สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว) เรือเอกหนุ่มประจำกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่มาประจำอยู่ที่อู่ต่อเรือใกล้บ้าน อังศุมาลินประกาศตนเป็นศัตรูกับกองทัพญี่ปุ่น เมื่อโกโบริสั่งลงโทษกรอกน้ำมัน ตาบัว (เกรียงไกร อุณหนันท์) กับ ตาผล (กลศ อัทธเสรี) คนในชุมชนชาวสวนที่อังศุมาลินรู้จัก ซึ่งไปรับจ้างทำงาน แต่กลับช่วยกันขโมยน้ำมันของกองทัพญี่ปุ่น โกโบริรู้สึกรักอังศุมาลินตั้งแต่แรกพบ เขาพยายามแสดงไมตรีจิตกับครอบครัวของอังศุมาลินมาตลอด เช่น เมื่อยายของเธอป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เขาก็พาหมอทาเคดะ (ภูริ หิรัญพฤกษ์) มารักษา ด้วยเหตุนี้แม่กับยายเอ็นดูมองเห็นถึงน้ำใจไมตรีและเรียกขานว่า พ่อดอกมะลิ

บ่ายวันหนึ่งขณะที่อังศุมาลินอยู่บ้านคนเดียวก็มีสัญญาณระเบิดดังขึ้น โกโบริมาหาเธอที่บ้านพอดี จึงพาเธอไปหลบภัยที่ท้องร่องในสวน พอดีระเบิดลงใกล้บริเวณนั้นโกโบริเอาตัวกำบังอังศุมาลินไว้ และเอ่ยปากบอกรักอังศุมาลินก่อนที่เขาและเธอจะหมดสติพร้อมกัน หลังเหตุการณ์สงบ แม่กับยายกลับมาจากทำบุญที่วัด พร้อมด้วย ยายเมี้ยน (อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ) และชาวบ้าน พวกเขามาพบโกโบรินอนทับอังศุมาลินอยู่ในท้องร่อง ยายเมี้ยนนำเรื่องนี้ไปโพนทะนาจนข่าวแพร่กระจายไปในทางเสื่อมเสียอย่างมาก

พอดีที่หลวงชลาสินธุราชพ่อของอังศุมาลินที่กำลังมีปัญหาทางการเมือง เพราะถูกสงสัยว่าเป็นขบวนการเสรีไทย และสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงกระทบกระทั่งกันเองพอดี อีกทั้งโกโบริเป็นตัวอย่างของนายทหารญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์อันดีกับคนไทย ดังนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองหนุ่มสาวจึงถูกดึงให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขบรรยากาศความขัดแย้ง

หลวงชลาสินธุราชจึงมาเจรจาขอให้อังศุมาลินยอมแต่งงานกับโกโบริด้วยตนเอง เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งหมด เมื่อทุกอย่างบีบคั้นอังศุมาลินจึงยอมตกลงปลงใจแต่งงานกับโกโบริ แต่ในวันหมั้นโกโบริจับได้ว่าอังศุมาลินและพวกพ้องถือโอกาสพาร้อยโทไมเคิล วอร์เด็น (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) เชลยชาวอเมริกันหนีกองทัพญี่ปุ่นเพื่อไปพบพวกขบวนการเสรีไทยได้สำเร็จ จึงทำให้เขารู้สึกเสียใจกับการกระทำครั้งนี้ของอังศุมาลินเป็นอย่างมาก แต่เพราะความรักที่มีต่ออังศุมาลิน โกโบริจึงยอมเก็บเรื่องทุกอย่างไว้เป็นความลับ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นภัยร้ายแรงกับกองทัพญี่ปุ่น

โกโบริรู้ดีว่าอังศุมาลินมีวนัสอยู่แล้ว เขาตัดสินใจไปหารือกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อจะขอยกเลิกการแต่งงานแต่ก็ไม่เป็นผล การแต่งงานของโกโบริกับอังศุมาลินจึงเป็นไปตามกำหนดการเดิม และในคืนส่งตัวโกโบริก็ปฏิบัติตนเป็นสุภาพบุรุษ ไม่คิดที่จะล่วงเกินอังศุมาลินเลยแม้แต่น้อย

ตาบัวกับตาผลยังหาความเดือดร้อนมาใส่ตัวอีกจนได้ ด้วยการไปพาฝรั่งเยอรมันมาที่กระท่อมในสวน เพราะนึกว่าฝรั่งทุกคนคือศัตรูญี่ปุ่นไปหมด แต่เยอรมันคนนั้นไปแจ้งตำรวจและกองทัพญี่ปุ่น ว่าในสวนนี้มีกระท่อมที่ให้ที่พักกับฝรั่งชาติพันธมิตร จนพวกกำนัน (สรพงศ์ ชาตรี) ซึ่งเป็นพ่อของวนัสกับชาวบ้านต้องช่วยกันรื้อกระท่อมนั้น และจัดงานรำวงขึ้นเพื่อบังหน้า โกโบริเองก็พลอยร่วมมือไปกับเขาด้วย ทั้ง ๆ ที่รู้สึกเจ็บปวดในใจ เขาจึงดื่มเหล้าอย่างหนักและร่วมรำวงอย่างสนุกสนานจนขาดสติ

ในคืนนั้นเองโกโบริก็ปลุกปล้ำขืนใจอังศุมาลิน ทั้งเพราะความเมาความรักและความน้อยใจ ทำให้อังศุมาลินยิ่งแสดงความเย็นชาเกลียดชังเขามากขึ้น โกโบริรู้สึกผิดที่ล่วงเกินอังศุมาลิน เขาจึงมุทำงานอย่างหนักไม่กลับมาค้างที่บ้าน พร้อมกับทำเรื่องขอย้ายไปประจำการที่พม่าเพราะสถานการณ์ที่นั่นกำลังตึงเครียด จากนั้นไม่นานอังศุมาลินก็รู้ตัวว่าตนได้ตั้งท้องลูกของโกโบริ หมอทาเคดะตรวจพบอาการและบอกข่าวดีกับทุกคน โกโบริดีใจมาก แต่แล้วก็มีข่าวว่าวนัสเป็นหนึ่งในขบวนการเสรีไทยจากอังกฤษที่กระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทย และโดนญี่ปุ่นจับได้

อังศุมาลินรู้ว่าโกโบริจะได้เป็นหนึ่งในคณะทหารญี่ปุ่นที่จะทำหน้าที่สอบสวนวนัส เธอจึงเอาลูกมาขู่ว่าหากวนัสมีอันตรายอะไร โกโบริจะต้องตอบแทนอย่างสาสม ก่อนทิ้งตัวให้ตกบันไดที่สูงชันลงมา โชคดีที่เธอและลูกปลอดภัย แต่โกโบริเสียใจมาก เขาพยายามเร่งให้ตัวเองได้ย้ายไปพม่าเร็วขึ้น และพูดว่าหากอังศุมาลินไม่ต้องการเด็ก ก็ให้ส่งไปให้พ่อแม่เขาที่ญี่ปุ่นเลี้ยงก็ได้ ส่วนตัวเธอเขาจะปล่อยให้เป็นอิสระได้กลับไปรักกับวนัสตามเดิม อังศุมาลินเริ่มได้คิดและรู้ใจตนว่าที่แท้แล้ว คนที่มีความหมายที่สุดสำหรับเธอก็คือโกโบริและลูกในท้องต่างหาก เธออยากบอกให้เขารู้ว่าเธอรักเขาที่สุด และขอให้เขาเลิกล้มความคิดที่จะย้ายไปจากเมืองไทยเสีย แต่ก็มีอันต้องคลาดกันตลอด เพราะโกโบริเอาแต่หักโหมทำงานเพื่อลืมความทุกข์ในใจ ทั้งสองจึงไม่ได้ปรับความเข้าใจกัน

ในที่สุดวนัสก็พ้นจากการจองจำเพราะความช่วยเหลือของโกโบริ วนัสรีบมาพบอังศุมาลิน เธอดีใจมาก เพราะเธอจะได้ให้คำตอบแก่วนัสตามสัญญาเสียทีว่าเธอรักโกโบริคนเดียวและขอคืนอิสระจากวนัส วนัสบอก ว่าโกโบริเป็นคนดี และอวยพรในความรักของเธอกับโกโบริ พร้อมกำชับให้อังศุมาลินบอกโกโบริว่าอย่าไปสถานีรถไฟบางกอกน้อย เพราะพันธมิตรมีแผนจะทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ที่นั่น

ทั้งสองไม่รู้ตัวเลยว่าการลักลอบพบกันครั้งนี้อยู่ในสายตาของโกโบริ แต่เขาไม่ได้ยินสิ่งที่ทั้งสองบอกต่อกัน ภาพที่เห็นจึงทำให้โกโบริเข้าใจผิด จากนั้นอังศุมาลินก็รีบจะไปบอกข่าวดีกับโกโบริว่าเธอเป็นอิสระจากวนัสแล้ว และจะขอเป็นภรรยาที่ดีของเขาคนเดียว แต่ไม่ทันกาลเพราะโกโบริได้ออกเรือตรงไปที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย พอดีอังศุมาลินรีบตามไปที่สถานีรถไฟบางกอก เมื่อเธอไปถึงปรากฏว่าสถานีรถไฟบางกอกน้อยโดนระเบิดถล่มเสียหายยับเยิน มีทหารบาดเจ็บล้มตายมากมาย อังศุมาลินขอพรลูกในท้องให้ช่วยคุ้มครองพ่อ และตามหาโกโบริอย่างร้อนใจ จนในที่สุดก็พบเขาบาดเจ็บสาหัสนอนจมซากปรักหักพังอยู่ เธอพยายามทำทุกวิธีอย่างสุดกำลังที่จะช่วยให้เขามีชีวิตรอด บทสรุปของโศกนาฏกรรมความรักที่มาพร้อมสงครามครั้งนี้จะลงเอยเช่นไร ติดตามชม

บทประพันธ์โดย : ทมยันตี
บทละครโทรทัศน์ โดย : ปราณประมูล
กำกับการแสดงโดย : สันต์ ศรีแก้วหล่อ
ผลิตโดย : บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด
อำนวยการผลิตโดย : นิพนธ์ ผิวเณร และ ถกลเกียรติ วีรวรรณ

นักแสดง
สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว รับบท โกโบริ 
หนึ่งธิดา โสภณ รับบท อังศุมาลิน 
นภัทร อินใจเอื้อ รับบท วนัส 
ปวีณา ชารีฟสกุล รับบท แม่อร 
โฉมฉาย ฉัตรวิไล รับบท ยายศร 
จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รับบท หลวงชลาสินธุราช 
สรพงษ์ ชาตรี รับบท กำนันนุ่ม 
สุพรรษา เนื่องภิรมย์ รับบท แม่วัน 
ภูริ หิรัญพฤกษ์ รับบท หมอทาเคดะ 
อุดมพร คชหิรัญ รับบท หมอโยชิ 
กศล อัทธเสรี รับบท ตาผล 
เกรียงไกร อุณหะนันท์ รับบท ตาบัว 
โอลิเวอร์ พูพาร์ท รับบท ร้อยโทไมเคิล วอร์เด็น 
อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ รับบท ยายเมี้ยน 
เป็ด เชิญยิ้ม รับบท ตาแกละ 
รอง เค้ามูลคดี รับบท เฮียเม้ง 
กรุง ศรีวิไล รับบท หลวงพ่อ 
ไปรมา รัชตะ รับบท คุณหญิงจิต ชลาสินธุ์ 
นิรุตติ์ ศิริจรรยา รับบท พลโทโทโมยูกิ 
พงศ์สิรี บรรลือวงศ์ รับบท สารวัตรองอาจ 
ศุภัคชญา สุขใบเย็น รับบท แมว 

คู่กรรม เป็นนวนิยายแนวโศกนาฏกรรมและวีรคติ ประพันธ์โดย ทมยันตี ดำเนินเรื่องที่มีฉากหลังในประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อราวปี พ.ศ. 2508 จากการเดินทางไปจังหวัดกาญจนบุรี และเข้าเยือนสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักที่ทอดร่างของเหล่าทหารสัมพันธมิตร โดยสะดุดใจเมื่อเห็นคำจารึกถึงบนหลุมศพทหารสัญชาติเนเธอร์แลนด์คนหนึ่ง เมื่อสอบถามดู ได้ความว่าเป็นลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวที่มาเสียชีวิตลงที่ประเทศไทย โดยที่ผู้เป็นพ่อแม่มิอาจมาร่วมฝังศพของลูกชายได้

คู่กรรม เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารศรีสยาม (ในเครือนิตยสารขวัญเรือน) และรวมเล่มเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 แล้วตีพิมพ์มาหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2 ถือว่าเป็นบทประพันธ์ที่ชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของทมยันตีเลยทีเดียว

คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง เริ่มจาก ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นละครถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2513, พ.ศ. 2515 และต่อมาทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ในปี พ.ศ. 2521

ครั้งสำคัญเป็นละครทางช่อง 7 สี ในปี พ.ศ. 2533 เป็นละครที่สร้างประวัติศาสตร์เรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของเมืองไทยตลอดกาล เรตติ้ง 40  เรื่องนี้ได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำในปีเดียวกัน หลังจากนั้นได้นำมาสร้างใหม่เป็นละครทางช่อง 3 ในปี พ.ศ. 2547 (มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2) ล่าสุดเป็นละครทางช่อง 5 ในปี พ.ศ. 2556

คู่กรรม นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2516, พ.ศ. 2531, พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2556 ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง (ปี 2531 และ 2538) ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลตุ๊กตาทองไปทั้งคู่ และเคยดัดแปลงเป็นละครเวที โดยค่ายดรีมบอกซ์ กลางปี พ.ศ. 2547 แสดงที่โรงละครกรุงเทพ และกลางปี พ.ศ. 2550 แสดงที่ โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส

นอกจากนี้แล้ว คู่กรรม ยังเป็นที่รู้จักกันดีถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย จนถึงกับมีการแต่งเป็นนวนิยายเนื้อหาคล้ายคลึงกันของนักประพันธ์ชาวญี่ปุ่น โดยในฉบับของญี่ปุ่นนี้ ตัวละครเอกได้เปลี่ยนชื่อเป็น โอโมริ กับ กันยา

ละครโทรทัศน์
คู่กรรม ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2556) รวม 6 ครั้ง ได้แก่

ในปี พ.ศ. 2513 สร้างครั้งแรกออกอากาศทาง ช่อง 4 บางขุนพรหม สร้างโดย เทิ่ง สติเฟื่อง ในนามของ คณะศรีไทยการละคร
ต่อมาออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2515 ต่อมาออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในปี พ.ศ. 2521

ในปี พ.ศ. 2533 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 สร้างโดย สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์นวนิยาย หยิบเรื่องนี้จัดทำเป็นละครโทรทัศน์ ภายใต้นโยบายทำตามบทประพันธ์ ร่วมกับ ดาราวิดีโอ กำกับการแสดงโดย ไพรัช สังวริบุตร ออกอากาศวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 – 22.00 น. เพลงประกอบชื่อ คู่กรรม คำร้องและทำนองโดย สุทธิพงษ์ วัฒนจัง สร้างประวัติศาสตร์ละครที่เรตติ้งสูงสุดของประเทศไทย  เรื่องนี้ส่งผลให้ได้ได้รับรางวัลทั้งเมขลาและโทรทัศน์ทองคำหลายสาขา ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – วันที่ 9 มิถุนายน 2533

ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สร้างโดย เรด ดราม่า กำกับการแสดงโดย นพดล มงคลพันธ์ ออกอากาศวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.20 น.  มีภาคต่อคือ คู่กรรม 2

ครั้งล่าสุด ปี พ.ศ. 2556 ได้รับการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สร้างโดย เอ็กแซ็กท์ และ ซีเนริโอ กำกับการแสดงโดย สันต์ ศรีแก้วหล่อ ออกอากาศวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.10 – 21.40 น. ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 16 เมษายน พ.ศ. 2556 รวม 24 ตอน

ละครเวที

คู่กรรม เดอะมิวสิคัล เป็นละครเพลงขนาดสององก์ของค่ายดรีมบ็อกซ์ ดัดแปลงจากนวนิยายเรื่องคู่กรรมของทมยันตีและนำเสนอในรูปแบบของละครเพลงประเภทร้องทั้งเรื่อง (sung-through musical) เปิดการแสดงครั้งแรกที่โรงละครกรุงเทพ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 และครั้งล่าสุดที่โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส เมื่อเดือนกันยายน 2550 รวมทั้งหมด 55 รอบ

คู่กรรมได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นละครเวที ในรูปแบบ ละครเพลง (sung-through musical) กลางปี พ.ศ. 2547]] โดยค่ายดรีมบอกซ์ กำกับการแสดงโดย สุวรรณดี จักราวรวุธ แสดงที่โรงละครกรุงเทพ

เซงิ โอเซกิ รับบท โกโบริ
ธีรนัยน์ ณ หนองคาย รับบท อังศุมาลิน
วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ รับบท วนัส
จากนั้นได้กลับมาแสดงอีกครั้ง กลางปี พ.ศ. 2550 โดยทีมงานชุดเดิมทั้งหมด แสดงที่ โรงละครกรุงเทพเมโทรโพลิส