เคเดอร์…ขังตาย

พนักงานด้วยความกลัวตายจึงพากันหนีตายกันอย่างวุ่นวาย ทั้งพยายามเบียดเสียดยัดเยียดกันออกจากอาคาร ทำให้คนงานจำนวนมากต้องเหยียบกันตาย ในระหว่างหาทางหนีไปจากอาคารที่กำลังถูกเพลิงนรกเผาผลาญ และบางส่วนพยายามกระโดดออกจากอาคารจนตกลงมาเสียชีวิต! “สันติวิธี พรหมบุตร” พิธีกรคนข่าว พาย้อนอดีต เจาะลึกเหตุเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาย่านพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ปี 2536 หรือ 22 ปีก่อน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 188 คน บาดเจ็บอีกเกือบ 500 คน เป็นเหตุการณ์เพลิงใหม้โรงงานอุตสาหกรรมที่รุนแรงที่สุดในโลก


เคเดอร์…ขังตาย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิต รวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน โรงงานแห่งนี้เป็นของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ อาทิ ตุ๊กตา

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

ภาพที่เห็นก็มีแต่ร่างกายที่ไร้วิญญาณ และไหม้เกรียมจากเพลิงมรณะของบรรดาคนงานผู้ชะตาขาดจำนวน 188 ราย โดยเป็นคนงานชาย 17 คน คนงานหญิง 171 คน 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540