อดีตชาตินับย้อนไปหลายร้อยปี… ที่แห่งนี้คือ “มรุกขนคร” ที่แสนยิ่งใหญ่ มีตำนานรักของ “เจ้าชายหนุ่ม” กับ “นางพญานาคา” อันเป็นเหตุให้เมืองต้องล่มสลายลง ความรัก… ความแค้น… ของหลายชีวิตได้ฟั่นเกลียวกรรมร้อยรัดด้วยรอยพยาบาทให้ต้องมาพบพานกันอีกในชาติภพนี้ อาถรรพณ์ของ “นางพญานาคี” สำแดงฤทธิ์ให้คนทั้งหมู่บ้านต้องผจญกับความขนพองสยองเกล้า หากบ่วงกรรมก็ชักนำศัตรูที่ไม่หวั่นเกรงคมเขี้ยว ซ้ำยังหาทางกำจัดเจ้าแม่ทุกวิถีทาง
ละคร นาคี 2559
คู่คอง Ost.นาคี | ก้อง ห้วยไร่ | Official MV
ขาดเธอขาดใจ Ost.นาคี | นัท ชาติชาย | Official MV
โขงเจียม อุบลราชธานี พ.ศ. 2480
นายเคนสามีของคำปองจับได้งูลักษณะประหลาดเป็นสีขาวตลอดตัวขนาดใหญ่กว่าแขน ยาวประมาณวาเศษ บนหัวมีหงอนเหมือนหงอนพญานาค ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นงูเจ้าแม่ที่เรียกกันว่า “นาคี” เขานำไปขายให้กับฝรั่งนักค้างู จอห์น วินสัน ด้วยราคาสูงลิ่ว คำปองซึ่งท้องแปดเดือนมีความเชื่อเช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายคน ว่างูเจ้าแม่นี้หากไปหลบหลู่ดูหมิ่นจะต้องประสบกับความพินาศฉิบหาย นางพยายามห้ามปรามสามีแต่สายไปเสียแล้ว
กลุ่มของจอห์น วินสัน ประกอบด้วยผู้ช่วยชาวไทยอีกสองคนคือ นายกอและนายบุญส่ง นายบุญส่งนั้นร้องด่าลบหลู่งูขาวที่จับมาได้และท้าทาย ว่าหากเป็นงูเจ้าแม่จริงก็ให้สำแดงฤทธิ์เดช ฉับพลันนั้นเองขณะที่เปิดกรงเพื่อนำงูที่จับได้บรรทุกขึ้นเกวียนปรากฏอาเพศบนท้องฟ้า เกิดสุริยคราสพายุอื้ออึงฟ้ามืดครึ้มเกิดลมพายุรุนแรงจนหมู่บ้านถล่ม นายเคนถูกกระท่อมทับตายคาที่ บุญส่งถูกไม้ทับขาข้างหนึ่งจนแหลกเหลว นายกอนั้นหนีไปได้ แต่จอห์น วินสัน ถูกงูเผือกฉกตาย ส่วนคำปองนั้นเกิดเจ็บท้องคลอดกะทันหันเด็กทารกหญิงที่คลอดออกมาสิ้นชีวิต แต่ก่อนที่คำปองจะหมดสติไปนางบังเกิดเห็นภาพงูใหญ่เลื้อยแทรกกลืนหายเข้าไปในตัวเด็ก และลูกของนางก็กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
คำปองตั้งชื่อบุตรสาวว่า คำแก้ว ย้ายจากโขงเจียมไปอยู่ดอนไม้ป่าครองตัวเป็นแม่ม่าย เด็กหญิงคำแก้วในวัยเรียนชั้นประถมศึกษามีลักษณะต่างจากเด็กทั่วไป บางครั้งชอบเดินเที่ยวในป่าคนเดียวหรือมักนั่งเงียบครุ่นคิด ที่น่าประหลาดคือมักปรากฏอสรพิษอยู่ใกล้เด็กหญิงเสมอแต่ไม่เคยทำร้าย คำปองซึ่งยังเป็นสาวงามแม้จะตกพุ่มม่ายมีนายกอพ่อม่ายลูกติดมาชอบพอแต่นางปฏิเสธไปด้วยใจยังไม่ลืมสามีและด้วยความรักที่มีต่อบุตรสาว คำแก้วมักหายตัวไปบริเวณปราสาทหินร้างท้ายหมู่บ้าน เด็กหญิงยังบอกอีกว่าสามารถพูดคุยกับงูได้และพวกมันเชื่อฟังเธอ คำปองเชื่อว่าเด็กหญิงคิดเอาเองตามประสาเด็ก คำแก้วเล่าให้แม่ฟังอีกว่าเธอชอบปราสาทหินร้างแห่งนั้น รู้จักคุ้นเคยราวกับเคยอยู่ที่นั่นมาก่อน
20 ปีผ่านไป… พ.ศ. 2500
คณะอาจารย์และนักศึกษาโดยการนำของอาจารย์ทัศนัยได้ลงพื้นที่ขุดค้นโบราณวัตถุ ในจำนวนนี้มี ทศพล นักศึกษาปีสุดท้ายของคณะโบราณคดีรวมอยู่ด้วย เขาเป็นคนรูปงามและหลงใหลในวัตถุโบราณเป็นอย่างมาก ทศพลขุดพบรูปปั้นประหลาดเป็นหินสลักสีขาวอมชมพูรูปหญิงสาวเปลือยท่านอนบิดตัว ช่วงล่างตั้งแต่สะโพกลงไปเป็นหางงู ส่วนบนของหน้าผากที่จรดกับศีรษะมีหงอน ซึ่งอาจารย์ทัศนัยอธิบายว่านั่นคือสัญลักษณ์ของ “นาคี” หรือ “พญานาค” ทศพลหลงใหลในความงามของรูปปั้นจนเก็บไปเพ้อถึงทำให้พิมพ์พรที่แอบชอบเขาอยู่ไม่พอใจ
ตั้งแต่ขุดพบรูปปั้นประหลาดมีเรื่องราวแปลก ๆ เกิดขึ้นกับคณะทำงาน เริ่มตั้งแต่ทศพลพบเด็กสาวสวยสวมชุดแพรเยื่อไม้สีกลีบบัว แต่เมื่อเขาติดตามไปหล่อนหายไปอย่างไร้ร่องรอย ในเวลาเดียวกันคำแก้วซึ่งเติบโตเป็นสาวสวยของบ้านดอนไม้ป่าเกิดฝันประหลาดว่าได้พบชายหนุ่มรูปงาม เขาและพวกกำลังขุดหาวัตถุโบราณอยู่ ทศพลและเพื่อน ๆ คือ วันชนะ ประกิต เชษฐ์ สมมาตร รวมถึง พิมพ์พร รัตนาวดี และเจิดนภา ไม่ได้รับการต้อนรับจากกำนันแย้ม เพราะกำนันแย้มไม่ต้องการให้คนต่างถิ่นเข้ามายุ่มย่ามในหมู่บ้าน รวมถึงการขุดค้นที่เทวาลัยจึงขับไล่ทุกคนไปไม่ให้นอนค้างที่หมู่บ้าน สุดท้ายทัศนัยจึงพาเด็ก ๆ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านของคำปอง และที่นั่นเองทศพลก็ได้พบกับคำแก้วและเริ่มชอบคำแก้วในที่สุด
พิมพ์พรเดินตลาดของบ้านดอนไม้ป่าได้พบกับคำแก้วที่เก็บดอกไม้ป่าหลากชนิดมาขาย เธอไม่ชอบหน้าคำแก้วแต่แรกเห็นเพราะสวยจัดทั้งยังฉลาดรู้จักยอกย้อนต่อปากต่อคำต่างกับหญิงชาวบ้านทั่วไป พิมพ์พรเห็นรูปปั้นนาคี พิมพ์พรถึงกับประหลาดใจเมื่อพบว่าใบหน้าของรูปปั้นนั้นเหมือนเด็กสาวชาวป่าที่เธอเพิ่งได้พบแทบไม่ผิดเพี้ยน
หมออ่วมทำนายกับกำนันแย้มว่าอีกเจ็ดวันจะเกิดสุริยคราสทำความวิตกให้กับเขามากเนื่องจากทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์นี้จะต้องมีคนถูกฝูงงูกัดกินจนตายทุกครั้ง หมออ่วมบอกว่านี่เป็นอิทธิฤทธิ์ของเจ้าแม่นาคี เขาทำนายพิมพ์พรและรัตนาวดีว่ากำลังมีเคราะห์หนักจนอาจถึงสิ้นชีวิตภายในเจ็ดวัน พิมพ์พรและรัตนาวดีได้พบกับคำแก้วที่ตลาดอีกครั้ง รัตนาวดีเริ่มเอะใจเธอจำได้ว่าคำแก้วมีใบหน้าคล้ายกับรูปปั้นนาคีที่ทศพลขุดได้ พิมพ์พรขอให้เธอเก็บไว้เป็นความลับ
หมออ่วมฉุกใจคิดว่า “เจ้าแม่นาคี” ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ฆ่าคนจะเกี่ยวข้องกับคำแก้วเด็กสาวที่เกิดในวันสุริยคราสที่อำเภอโขงเจียมและเป็นวันเดียวกับที่เจ้าแม่อาละวาดเมื่อหลายปีก่อน นายอ่วมต้องการกำจัดเจ้าแม่นาคีแต่กำลังสืบหาที่อยู่และหาของขลังมาปราบ ส่วนลำเจียกลูกสาวนายกอก็ตกหลุมรักทศพลด้วยรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลา ยิ่งเมื่อเห็นทศพลชอบอยู่ใกล้ชิดกับคำแก้วก็ยิ่งไม่พอใจ ลำเจียกหาทางกลั่นแกล้งคำแก้วอยู่เสมอ โดยมีซ่อนกลิ่นกับชบาคอยเป็นมือขวาให้ลำเจียก
ทศพลพบภาพประหลาดเป็นปราสาทราชวังตระการตาและหญิงสาวสวมมงกุฎงูคนเดิม เช่นเดียวกับคำแก้วที่ฝันถึงทศพล พิมพ์พรเห็นภาพประหลาดเป็นงูเผือกยักษ์กำลังโอบรัดทศพลอยู่ เธอกังวลและหวาดกลัวจนต้องเล่าให้ทศพลฟังว่างูใหญ่บางตัวมีฤทธิ์แปลงเป็นคนได้จากคำบอกเล่าของบิดา นั่นก็คือนายบุญส่งที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์อาเพศเจ้าแม่นาคีเมื่อหลายปีก่อนนั่นเอง
หมออ่วมลอบนำว่านพญาลิ้นงูที่ได้จากสัปเหร่อคงไปฝังไว้ที่ใต้ถุนเรือนคำปอง เพื่อทดสอบว่าคำแก้วคือร่างแปลงของนาคี จนคำแก้วร้อนรนอยู่บนเรือนไม่ได้ต้องเสาะหาขุดว่านนั้นทำลายเสีย หมออ่วมเริ่มแน่ใจมากขึ้น ทางด้านอาจารย์ทัศนัยขุดพบซากเมืองโบราณที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์งูเต็มไปหมด นอกจากนี้เขายังสันนิษฐานว่ารูปปั้นนาคีนั้นแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่หินสลักหรือวัตถุทั่วไปแต่เป็นศพอาบน้ำยาเช่นเดียวกับมัมมี่ของอียิปต์ที่ถูกฝังไว้เป็นเวลานานจนแปรสภาพเป็นเนื้อหิน
กำนันแย้มและหมออ่วมแจ้งเตือนชาวบ้านถึงวันสุริยคราสที่จะมาถึงในพรุ่งนี้ ยังบอกอีกว่าเจ้าแม่นาคีจะต้องอาละวาดฆ่าคนอีกเพราะที่ปราสาทหินร้างท้ายหมู่บ้านนั้นมีถ้ำติดต่อไปยังอำเภอโขงเจียมที่เจ้าแม่เคยปรากฏอิทธิฤทธิ์ หมออ่วมเสริมว่าเจ้าแม่นาคีนั้นมีร่างเป็นคนอาศัยปะปนอยู่กับชาวบ้านแต่เมื่อคำแก้วคาดคั้นให้บอกออกมาว่าเป็นใครเขาก็กลับอึกอักบอกว่ายังไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอ
คนขับรถที่พาคณะของอาจารย์ทัศนัยและเด็ก ๆ ถูกงูกัดตาย ทัศนัยจะเอาศพคนขับกลับไปทำพิธีแต่กำนันไม่ยอม บอกว่าถูกงูกัดตายหากเคลื่อนย้ายศพจะเกิดอาเพศใหญ่ ลำเจียกไปหาทศพลถึงที่บ้านคำแก้วขากลับเจองูเผือกจะทำร้าย ดีที่ใส่แหวนที่พ่อให้ไว้จึงรอดมาได้ ทศพลกับพวกมาที่บ้านสัปเหร่อคงถามเรื่องที่ฝังศพคนรถ ทศพลจ้างให้สัปเหร่อไปขุดโลงเปิดออกมา เห็นงูกำลังกัดกินศพอย่างหน้าสะอิดสะเอียนทุกคนแทบช็อก ส่วนรัตนาวดีก็กลัวตาย วิ่งหนีไปจากหมู่บ้านเจอเข้ากับผีโดนทำร้ายจนสลบไป ทุกคนตกใจที่รัตนาวดีหายไปจึงไปแจ้งกำนันแย้มแต่ก็ไม่รับแจ้ง บอกถ้าภายใน 3 วันไม่กลับมาคือไม่รอด ทัศนัยแบ่งเด็ก ๆ เป็น 2 กลุ่มออกไปตามหา คำแก้วช่วยเหลือรัตนาวดีมาได้ โดยพิมพ์พรและเจิดนภาไปพบการช่วยเหลือแล้วพากลับมาที่บ้านพัก แต่รัตนาวดีอยู่ในอาการหวาดกลัวยังคงไม่พูดจากับใคร สุดท้ายคำปองจึงไปหาหมออ่วมให้มารักษา หมออ่วมมาที่บ้านคำปองเห็นแววตาคำแก้วพร้อมกับกลิ่นสาบงูก็เริ่มมั่นใจว่าคำแก้ว จะต้องเป็นบริวารของเจ้าแม่นาคี
ส่วนทศพล วันชนะ และประกิต ต้องค้างที่เทวาลัยเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้ทศพลค้นพบถ้ำใต้เทวาลัยและได้พบกับร่างทิพย์ของเจ้าแม่นาคีที่มีหน้าตาเหมือนกับคำแก้วอย่างไม่มีผิดเพี้ยน หลังจากออกจากถ้ำทศพลจึงบอกกับทัศนัยและจะพาทีมนักศึกษาเข้าไปสำรวจถ้ำต่อไปจนได้พบกับวัตถุโบราณจำนวนมาก
ลำเจียกขะมักเขม้นซ้อมรำถวายเจ้าแม่ ตอนแรกคำแก้วจะไม่ยอมรำถวายทำให้กำนันไม่พอใจ แต่สุดท้ายคำปองเกลี้ยกล่อมให้ทำเพื่อเจ้าแม่นาคี เพราะเคยสัญญาไว้ตั้งแต่ตอนท้องคำแก้วว่าหากคำแก้วปลอดภัยดีจะยกคำแก้วให้กับเจ้าแม่นาคี สุดท้ายคำแก้วจึงยอมรำถวายให้ ชาวบ้านดอนไม้ป่าเชื่อว่า เมื่อเกิดสุริยุปราคามนุษย์ต้องสังเวยชีวิตเพื่อให้พญานาคคายดวงอาทิตย์ออกมา และเมื่อถึงวันบวงสรวงชาวบ้านต่างมากันพร้อมหน้าที่หน้าเทวาลัย คำแก้วก็มารำถวายด้วย คำแก้วเริ่มรำไปได้ไม่นานเธอก็เริ่มเลื้อยเหมือนงูผิวหนังเริ่มเป็นเกล็ด ลำเจียกหันมาเห็นร้องตกใจโวยวายใหญ่ทำให้พิธีต้องหยุดกะทันหัน คำแก้ววิ่งไปที่เทวาลัยในขณะที่ทศพลและอาจารย์รวมทั้งเพื่อน ๆ ต้องรีบหนีออกมาจากเทวาลัย ทศพลหยิบโบราณวัตถุออกมา ทำให้วัชระปราการ ฉัตรสุดา เลื่อมประภัส ซึ่งเป็นบริวารเจ้าแม่นาคี หลุดออกจากคำสาปกลายร่างเป็นคน
ทศพลสงสารคำแก้วที่ถูกชาวบ้านใส่ร้ายว่าเป็นเจ้าแม่นาคีจึงชวนไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน ลำเจียกมาพบพอดีเกิดไม่พอใจ แต่เธอก็ไม่กลัวคำแก้วเพราะใส่แหวนพิรอดของกอมาด้วย ลำเจียกวางแผนร่วมมือกับเลื่องจะเอาคำแก้ว มาเป็นเมียเลื่องให้ได้ ทศพลเริ่มอ่านเรื่องราวจากศิลาพบชื่อเมืองมรุกขนครและกษัตริย์ที่ปกครองเมืองนี้ก็คือพระเจ้านิรุทธราช
คำแก้วถูกลำเจียกหลอกมาที่กระท่อมให้เลื่องปล้ำ คำแก้วตกใจกลายร่างเป็นงูเผือกเลื่องเห็นแทบช็อก คำแก้วหมดสติไปแล้วเลื่องก็ถูกงูฉกตาย เดี่ยวกับทัพเข้ามาเจอจึงถูกฉกตายไปด้วยทั้งคู่ ส่วนลำเจียกรีบวิ่งหนีไปได้ กำนันแย้มแค้นใจมาก ลำเจียกบอกว่าคำแก้วเป็นคนฆ่า ชาวบ้านแห่กันมาจะเอาเรื่องคำแก้วแต่ลำเจียกไม่กล้าพูดมากนัก เพราะกลัวเรื่องจะแดงขึ้นมาว่าตนเองเป็นคนวางแผนให้เลื่องฉุดคำแก้วไป
กำนันแย้มร่วมมือกับหมออ่วมทำพิธีกำจัดเจ้าแม่นาคีใช้แหวนพิรอดพันกับสายสิญจน์ผูกกันไว้และเผาหุ่นเจ้าแม่นาคี คำแก้วซึ่งกำลังขายดอกไม้เริ่มร้อนทุรุนทุรายทนไม่ไหว ทศพลเห็นหมออ่วมทำพิธีรีบวิ่งไปหาคำแก้ว ถึงแม้จะถูกลูกน้องกำนันแย้มทำร้ายก็ตาม ส่วนลำเจียกเองก็กลัวที่ต้องถอดแหวนพิรอดออกจากนิ้วที่กอให้ไว้ เพราะกลัวจะถูกเจ้าแม่นาคีทำร้าย ร่างทิพย์เจ้าแม่นาคีพุ่งวูบออกมาจากร่างคำแก้ว เจ้าแม่นาคีทำพิธีเรียกฝนกางแขนออกทำปากขมุบขมิบสาธยายร่ายคาถาเรียกฝนมาสู้กับพิธีของหมออ่วม พายุฝนตกอย่างแรงฟ้าฝ่าจนสายสิญจน์ขาด ไฟที่หุ่นฟางดับลง พิธีหยุดลงกะทันหันทุกคนวิ่งหลบฝน คำแก้วสลบอยู่ในอ้อมกอดทศพล แล้วทศพลก็อุ้มเข้าเทวาลัยไปจนคำแก้วฟื้น ทศพลจึงให้คำแก้วขี่หลังกลับไปที่บ้าน
ลำเจียกแต่งตัวเลียนแบบเจ้าแม่นาคีมาปล้ำทศพลถึงที่พัก แถมร้องโวยวายว่าถูกปล้ำ ทั้งทัศนัยพร้อมด้วยลูกศิษย์ต่างตกใจ แต่คำแก้วบอกว่าลำเจียกต่างหากที่มาปล้ำทศพลถึงที่พัก ทำให้ทศพลรอดพ้นจากลำเจียกไปได้ ลำเจียกแค้นใจคำแก้วมาก รุ่งเช้าทศพลสารภาพรักกับคำแก้ว คำแก้วอดดีใจไม่ได้ แต่ทำทีปฏิเสธจนทศพลเสียใจ
หมออ่วม กำนันแย้ม ลำเจียก มาที่กระท่อมทศพล ใช้แหวนพิรอดส่องทางไม่ให้เจ้าแม่นาคีบังตา จนพบกับ เทวรูปเจ้าแม่นาคี กำนันแย้มและพวกจึงไปจับตัวทศพลและเพื่อน ๆ เอาไว้ คำแก้วรีบตามไปดู ถูกชาวบ้านเอาหินปาใส่ หาว่าคำแก้วเป็นงู ทศพลเข้าช่วยบอกกับกำนันแย้มและทุกคนว่าจะไปพิสูจน์เรื่องเจ้าแม่นาคีที่เทวาลัย เพราะไม่ว่าใครจะไปที่นั่นก็ไม่รอดกลับมา แต่หากเขารอดกลับมาได้ ต้องยอมปล่อยตัวทุกคน และไม่ต่อว่าคำแก้วอีก คำแก้วเป็นห่วงทศพลอยากตามไปช่วย
ทศพลเข้าไปที่เทวาลัยพบศิลาจารึก พร้อมลวดลายอักขระบนศิลา คือ มนตร์อาลัมพายน์ ! เป็นวิชาสะกดจิตอย่างหนึ่งที่ใช้สะกดจิตพวกนาคทศพลมัวแต่สนใจอ่านอักขระ ไม่ทันมองว่าเงางูใหญ่ทาบทับลงไปบนแผ่นศิลา ทำให้ทศพลรู้สึกตัว พอหันหลังกลับไปมองก็เห็นดวงตาเรือง ๆ ของงูใหญ่วัชระปราการมองมาอย่างมุ่งร้าย สุดท้ายทศพลก็หมดสติไป
ทศพลเริ่มหนาวเพราะอากาศในถ้ำ ส่วนงูเขียวพาคำแก้วเข้ามาที่ถ้ำจนได้ เจ้าแม่นาคีเข้าสิงร่างคำแก้วแล้วก็มาพบกับทศพล ทศพลดีใจมากที่ได้เจอคำแก้วโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเจ้าแม่นาคี เจ้าแม่พาทศพล มายังสระน้ำสีมรกต น้ำใส เป็นประกายระยิบระยับ สระแห่งนี้เป็นเส้นทางเชื่อมไปได้หลายแห่งเป็นรอยต่อระหว่างโลกมนุษย์กับวังบาดาลเมืองของพวกพญานาค เจ้าแม่เล่าเรื่องอดีตให้ทศพลฟังและบอกว่าตนเองรออยู่ จนไชยสิงห์มาเกิดเป็นทศพล คำแก้วก็คือเจ้าแม่นาคีนั่นเอง รุ่งเช้าทศพลหลับอยู่กับคำแก้ว คำแก้วตื่นมาตกใจจำอะไรไม่ได้ คำแก้วกลับบ้านไปแบบงุนงง ไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นของทศพลหรือเปล่า
กำนันแย้ม หมออ่วม กอ สั่งลูกน้อง ทั้งทุบ ทั้งเผา “รูปเจ้าแม่นาคี” แต่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายเอาล่องแพไปเผาที่วัด คำแก้ว ทศพล และเพื่อน ๆ ช่วยกันออกตามหาเทวรูป แพของกำนันแตก ลูกสมุน ถูกน้ำวน ดูดจมหายไป เทวรูปก็จมไปด้วย ทศพลเสียดายมาก แต่คำแก้วบอกว่ามันอยู่ในที่เหมาะสมแล้วคือในน้ำนั่นเอง ลำเจียกบอกกับทุกคนว่าคำแก้ว กับทศพลผิดผีกันแล้ว คำปองเสียใจ แต่ทศพลกลับบอกว่าเป็นผัวเมียกันแล้วทศพลขอรับผิดชอบ สุดท้ายคำแก้วกับทศพลจึงได้แต่งงานกันในที่สุด ซึ่งลึก ๆ แล้วคำปองก็ดีใจที่คำแก้วจะมีทศพลมาคอยปกป้อง
หมออ่วมจะปราบ “นาคี” โดยใช้ครุฑ คำปองมาได้ยินแต่ถูกคนของกำนันจับตัวไว้ เลื่อมประพัตร ฉัตรสุดา ไปบอกคำแก้ว คำแก้วรีบไปช่วยแม่ แต่ถูกจับตัวเอาไว้ ฉัตรสุดาจึงกลายร่างเป็นคน ไปบอกให้ทศพลมาช่วยคำแก้ว ทศพลถูกซ้อมจนสลบไป คำแก้ว กลายร่างเป็นงู ฉกสมุนกำนันแย้ม ฉกจนสมุนตายเรียบ บุญส่ง กำนันแย้ม หมออ่วม กอ วิ่งหนีงูเจ้าแม่นาคี เจ้าแม่นาคีจะฆ่าบุญส่งแต่คำปองห้ามไว้ วัชระปราการมาช่วยนาคีสกัดพวกกำนันแย้มหมออ่วมไว้ คำแก้วกลายร่างกลับเป็นคนร้องไห้เสียใจไม่อยากเป็นงู คำปองกอดลูกไว้บอกว่าต้องมีวิธีแก้อาถรรพ์ให้ได้ ดร.สุภัทรพ่อของทศพลมาที่หมู่บ้าน และได้รู้ว่าทศพลแต่งงานกับคำแก้วแล้ว
ทศพลทำสัญลักษณ์ของ “นาคี” บนหน้าผากรูปปั้นหลุดออกมา เขาจึงเก็บไว้กับตัวตั้งใจว่าจะเก็บไว้ติดให้เหมือนเดิม นายบุญส่งตามมาที่หมู่บ้าน และดีใจมากที่พิมพ์พรลูกสาวของเขาปลอดภัย เขาได้พบกับคำแก้วทำให้คำแก้วจำได้ว่าเคยเป็นงูเผือกถูกจับมาขาย และนายบุญส่งได้ร้องท้าทายจนเธอโกรธจัดและอาละวาดฆ่าคน คำแก้วเกิดนิมิตหยั่งรู้ว่าหากเมื่อใดที่เธอมีความโกรธหรือระลึกชาติได้ครบถ้วนเธอจะกลายร่างเป็นงู มีเพียงสถานที่เดียวคือต้องขึ้นไปบนปราสาทหินเพื่อระลึกชาติจึงจะไม่กลายร่าง คำแก้วเห็นอดีตชาติของตนเอง
ตำบลหนองไทรในอดีตคือมรุกขนคร ปกครองโดยพระเจ้านิรุทธราชซึ่งมีรูปร่างหน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกับบุญส่ง ทิศเหนือของนครมีสระน้ำกว้างใหญ่ใสสะอาดให้ชาวเมืองได้อาบกินทำการประมง ที่ก้นสระนั้นเป็นที่อาศัยของนางพญานาค ขณะนั้นเจ้าชายแสนเมืองหรือทศพลในชาตินี้ได้เป็นเชลยที่ถูกจับมาจากประเทศราช นางนาคีแปลงร่างเป็นสาวสวยพบรักและสมสู่อยู่กินกับเจ้าชาย แต่ในยามหลับนางกลับคืนร่างเป็นงูเผือกยักษ์หงอนสีแดงทำให้เจ้าชายรังเกียจนางจึงหนีกลับลงบาดาลไป เมื่อเจ้าชายแสนเมืองระลึกได้ถึงความรักที่มีต่อกันจึงไปเรียกหาที่สระ แต่นางนาคีซึ่งบำเพ็ญเพียรอยู่ก้นสระไม่ยอมใจอ่อนอีก
ต่อมาพระเจ้านิรุทธราชจับปลาไหลเผือกได้ นำมาเฉือนเนื้อกินกันในหมู่บริวาร ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่คิดปองร้ายนางในชาตินี้ ได้แก่ หมออ่วม นายกอ กำนันแย้ม เชษฐ์ เคน รวมถึงผู้คนที่ถูกนางพญานาคีกัดตายในวันสุริยคราสนั่นเอง สนมสองนางของพระเจ้านิรุทธราชก็คือพิมพ์พรและลำเจียกทุกคนล้วนกินเนื้อของนาง ยกเว้นไว้แต่นางกำนัลคำปองที่สงสารปลาไหลไม่ยอมกิน เนื้อของปลาไหลประหลาดนั้นยิ่งหั่นแจกก็กลับยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้นจนต้องนำไปแจกชาวประชาให้ได้กินกันทั้งเมือง ตกค่ำคืนนั้นลมพัดแรงนางกำนัลคำปองได้ยินเสียงกระซิบให้หนีออกจากเมืองเสียก่อนที่จะเกิดหายนะครั้งใหญ่นางทำตามคำบอก คืนนั้นเองเจ้าแม่สำแดงอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกกระหน่ำแผ่นดินไหวน้ำท่วมมรุกขนครถล่มทลาย ด้วยกรรมหนักที่ได้ก่อนางจึงถูกฟ้าดินสาปให้กลายเป็นหิน ครึ่งหนึ่งเป็นคนแสดงถึงความดีงาม ครึ่งหนึ่งเป็นงูหมายถึงความชั่วร้าย ส่วนจิตวิญญาณเร่ร่อนเกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เป็นงูบ้างคนบ้างจนกระทั่งสิ้นเวร หลังจากนั้นนับศตวรรษนางพญาเกิดเป็นงูเผือกที่โขงเจียมบำเพ็ญเพียรแต่กลับถูกจับมาขายฝรั่ง คำปองคลอดลูกตายเจ้าแม่นาคีจึงกลั้นใจตายแทรกวิญญาณทับร่างเด็กเติบโตเป็นคำแก้วนั่นเอง ทุกครั้งที่มีการตายโดยงูกัดในวันสุริยคราสหรือวันอื่น ๆ คำแก้วจะไม่รู้สึกตัว รับรู้แต่เพียงฝันร้ายว่าฆ่าคนตายเท่านั้น
บุญส่ง นายกอ กำนันแย้ม และหมออ่วม เดินทางไปตำบลหนองไทรเพื่อหาของขลังมาปราบเจ้าแม่นาคี ต่อมานำรูปปั้นพญาครุฑมาเพื่อกำจัดคำแก้วอีกครั้งโดยจับตัวคำปองมาเป็นเหยื่อล่อ ด้านลำเจียกให้หมออ่วมทำเสน่ห์จนทศพลหลงใหลทิ้งคำแก้วไปยังตำบลนาคหนี ซึ่งเจ้าแม่นาคีไม่สามารถไปได้เนื่องจากที่ตำบลนี้มีตำนานเล่าว่านางนาคตนหนึ่งแปลงกายมายั่วพระธุดงค์ให้ตบะแตก ท่านจึงสาปให้นาคใด ๆ ก็ไม่สามารถเข้าเขตได้
คำแก้วตามหาทศพลไปถึงตำบลนาคหนี แต่ทศพลถูกเสน่ห์ของลำเจียกไม่ยอมกลับ แถมยังสู้ลำเจียกไม่ได้เพราะไม่มีอิทธิฤทธิ์ใด ๆ เกือบถูกฆ่าตายด้วยการผลักให้จมน้ำ แต่กลับกลายเป็นว่าเมื่อลงน้ำคำแก้วกลับมีกำลังมากขึ้นหนีจากลำเจียกที่มุ่งร้ายมาได้ เมื่อกลับมาถึงบ้านเธอพบว่าคำปองถูกคนจับไปเสียอีก คำปองนั้นอันที่จริงรอดพ้นจากน้ำมือของพวกนายกอมาได้ ด้วยบริวารของเจ้าแม่คอยคุ้มกันไล่ต้อนคำปองขึ้นไปกักขังไว้ในปราสาทหินจนพวกของนายกอหาไม่เจอ
ลำเจียกอยู่ที่ตำบลนาคหนีได้พบเมืองอินทร์หมอผีอายุสามสิบเศษที่มีวิชาแก่กล้า หล่อนทอดตัวเป็นเมียเพื่อให้เขาช่วยกำจัดนางพญานาคี เมืองอินทร์จึงเดินทางมาพร้อมกับลำเจียกที่บ้านดอนไม้ป่า ทศพลจึงเริ่มคืนสติและกลับมาหาคำแก้ว และแหวนหลวงปู่มั่นนั้นจะไม่คุ้มครองลำเจียกอีก เนื่องจากหล่อนทำเสน่ห์เล่ห์กลซึ่งเป็นของต่ำ ทั้งยังคิดร้ายฆ่าเมียหลวงชิงผัวเขามา คำแก้วระลึกชาติได้อีกเมืองอินทร์ในอดีตชาติคือเจ้าอินทร์ผู้ซึ่งร่ายคาถาจับปลาไหลเผือกนำมาถวายพระเจ้าอนิรุทธราช คำอ้ายหรือลำเจียกในชาตินี้แอบมองเจ้าอินทร์จากหลังม่านทำตาเจ้าชู้ เจ้าอินทร์เป็นคนหนึ่งที่กินเนื้อปลาไหลเผือกจึงต้องโทษสิ้นชีพไปเช่นกัน ลำเจียกเกิดโมโหเอามีดไล่ฟันคำแก้วในวันหนึ่งจึงถูกเจ้าแม่นาคีกลายร่างขึ้นฆ่าเธอตาย
พวกของบุญส่งหลอกทศพลว่าหากต้องการให้คำแก้วพ้นข้อกล่าวหาขอให้ทศพลนำชิ้นส่วนที่เป็นหงอนของรูปปั้นนำไปติดที่หน้าผากของคำแก้ว หากมีนางพญานาคีสิงอยู่นางจะปรากฏร่างออกมาและคำแก้วจะปลอดภัยเป็นคนธรรมดาไม่มีวิญญาณร้ายสิงสู่อีก ทศพลทำตามแท้ที่จริงแล้วการทำเช่นนั้นจะทำให้คำแก้วกลายร่างเป็นงูตลอดชีวิต คำแก้วเสียใจหนีไปยังปราสาทร้างกราบไว้พระอ้อนวอนขออยู่ในร่างคน เสียงจากพระพุทธรูปบอกเธอว่าให้ถือศีลอยู่แต่ในถ้ำนี้ห้ามออกไปไหนเด็ดขาดจนครบร้อยวัน คำแก้วจะเป็นคนโดยสมบูรณ์ไม่มีวันกลายเป็นงูอีก
ทศพลพาคำปองหลบหนีพวกของนายบุญส่งที่ต้องการจับตัวไปล่อให้นางพญานาคีออกมา แต่ท้ายที่สุดจึงถูกพวกของเมืองอินทร์และนายบุญส่งจับตัวได้ พวกของเมืองอินทร์จับคำปองและทศพลเผาทั้งเป็นเพื่อล่อคำแก้วออกมา คำแก้วอดทนจนถึงที่สุดแต่ก็ไม่อาจยับยั้งคนใจทรามได้ คำปองไม่อาจทนเห็นสภาพคำแก้วที่ถูกชาวบ้านทำร้ายได้ จึงยอมปลิดชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือลูกส่วนทศพลรอดชีวิต คำแก้วในร่างนางพญางูออกอาละวาดฆ่าคนทั้งหมดตายไป และกลายร่างเป็นงูตลอดอายุขัย ทศพลเสียใจร้องขอให้คำแก้วอยู่กับเขาไม่ว่าจะในสภาพใดก็ตาม แต่คำแก้วไม่อาจอยู่ร่วมกับเขาได้หนีกลับขึ้นไปยังเทวาลัย ทั้งสองต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้งและจากกันด้วยน้ำตา พระธุดงค์ได้ชี้ทางสว่างให้แก่ทศพลโดยให้เขาบวชเป็นพระจนสิ้นอายุขัย… ติดตามชม ละครนาคี
บทประพันธ์โดย : ตรี อภิรุม
บทโทรทัศน์โดย : สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์
กำกับการแสดงโดย : พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ผลิตโดย : บริษัท แอค-อาร์ต เจเนเรชั่น จำกัด
ควบคุมการผลิตโดย : ธัญญา-พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
นักแสดง
ภูภูมิ พงศ์ภาณุ รับบท ทศพล/ไชยสิงห์
ณฐพร เตมีรักษ์ รับบท คำแก้ว/เจ้าแม่นาคี
ลักขณา วัธนวงส์ศิริ รับบท ลำเจียก/พระสนมกรรเจียก
ฉัตรฑริกา สิทธิพรม รับบท พิมพ์พร/พระธิดาพิมพาวดี
ธนากร โปษยานนท์ รับบท ทัศนัย
อริศรา วงษ์ชาลี รับบท คำปอง
สุภชา อัดรทองสกุล รับบท เจิดนภา/เพ็ง
สิรินรัตน์ วิทยพูม รับบท รัตนาวดี/แพน
โกสินทร์ ราชกรม รับบท เลื่อง
ดนัย จารุจินดา รับบท วัชระปราการ
เกรียงไกร อุณหะนันทน์ รับบท ดร.สุภัทร
การันต์ อร่ามศรี รับบท วันชนะ/นารุต
อรรถพล เทศทะวงศ์ รับบท ประกิต/อัคนี
ชาคริฐ จตุพรวัฒนพนธ์ รับบท เชษฐ์/สินธุ
ณัฐพล วิริยะชัย รับบท สมมาตร/กษิติ
ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ รับบท บุญส่ง/พระเจ้านิรุทธราช
มนตรี เจนอักษร รับบท กำนันแย้ม/มหาอำนาตย์
หยอง ลูกหยี รับบท นายกอ/ขุนวัง
ประสาท ทองอร่าม รับบท หมออ่วม/พระโหราธิบดี
พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง รับบท ท้าวศรีสุทโธนาคี
วิศรุต หิรัญบุศย์ รับบท เมืองอินทร์/เจ้าอินทร์
จั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม รับบท ทัพ
วัชรพงศ์ รอดขำปิยเศรษฐ รับบท เดี่ยว
มิลาน เกตุสุวรรณ รับบท เลื่อมประภัส
ธีรตี บุตรดีหงส์ รับบท ฉัตรสุดา
พลอยทิพา จันทรา รับบท ซ่อนกลิ่น/อี่
ปานฤดี ไสว รับบท ชบา
มาเรียม คำเมือง รับบท นมอุ่น
ชาติชาย งามสรรพ์ รับบท เคน
ปีเตอร์ ธูนสตระ รับบท จอห์น วินสัน
งานสร้าง
นาคี ได้มีการถ่ายทำผ่านฉากบลูสกรีนโดยผ่านการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ กราฟิก (Computer Graphic) จากทีม Fatcat ที่สร้างผลงานด้านกราฟิกมาแล้วเรื่อง รากบุญ, มณีสวาท, บุรำปรัมปรา เข้ามาช่วยเสริมสร้างตัวงู, ตัวพญานาคหรือตัวงูเจ้าแม่นาคีรวมไปถึงสัตว์ประหลาดตัวอื่น ๆ ขึ้นมาให้เนียนและมีความสมจริงมากที่สุด
รวมไปถึงละครเรื่องนี้ ได้ใช้สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมจากแต่ละภาคในประเทศไทยในการถ่ายทำละครอีกด้วย ซึ่งมีจังหวัดที่อยู่นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครแล้วนั้นยังมีจังหวัดอื่น ๆ อีก จากภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดบุรัรัมย์, จังหวัดกาญจนบุรี, จังหวัดชัยภูมิ, จังหวัดราชบุรี, จังหวัดอุทัยธานี, จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, จังหวัดนครนายก, จังหวัดสระบุรี, จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น
ด้านการแสดง ที่มีการเลือกใช้ภาษาอีสานทั้งเรื่องนั้น สรรัตน์ ผู้เขียนบท บอกถึงวัตถุประสงค์ว่า หวังจะให้คนดูกลับมาชื่นชมกับภูมิปัญญา และมองภาษาอีสานเป็นเรื่องทันสมัย ลบล้างทัศนคติเดิม ๆ ที่มองว่า พูดอีสานแล้วเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้ใครก็ตามที่พูดอีสานแล้วไม่ฟังดูเชย ส่วนที่เลือกใช้ภาษาอีสานสำเนียงอุบล เนื่องจากมีคำกล่าวว่า สำเนียงนี้มีความอ่อนช้อย ไพเราะ ในกองถ่ายจะมีครูแปลภาษาอีสานโดยเฉพาะ เพื่อแปลบทที่เป็นภาษากลาง ให้เป็นภาษาอีสาน พูดออกเสียงแล้วอัดใส่ที่อัดเสียง ส่งให้นักแสดงแต่ละคนฟัง แล้วท่องจำสำเนียงจนคุ้นหูก่อนจะเอามาพูดในฉากที่ต้องแสดง
คำวิจารณ์
ด้านคำวิจารณ์ มติชนชื่นชมในเรื่อง “การฝึกตัวละครให้ใช้ภาษาอีสานเดินเรื่อง ตามภูมิหลังของสถานที่ ตามมาด้วยการชมความงามของตัวละครนำ ณฐพร เตมีรักษ์ ทั้งในชุดโบราณ และการไม่แต่งหน้ามาก ซึ่งประการหลังดูจะควบคุมให้พอดีไปถึงตัวละครอื่น ๆ ด้วย จากนั้นจึงพูดกันถึงการใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพ ก็ได้เสียงชมที่สามารถทำให้กลมกลืนไปกับการแสดงของตัวละครได้ ไม่โดดเป็นการ์ตูนผสมหนังออกมา แล้วจึงเป็นการชมกระบวนงานสร้าง ซึ่งที่เด่นจนเห็นได้คือการพยายามใช้แสงจริงตามกาลเทศะ เช่นแสงตะเกียงตอนกลางคืนเป็นต้น นอกเหนือความตั้งใจให้สมจริงของสภาพแวดล้อมหมู่บ้านในเรื่อง” เรื่องบทบาทตัวละคร ได้รับคำวิจารณ์ว่า “ตัวละครที่สวมบทสาขาอาชีพใดอาชีพหนึ่งเหล่านั้น มักมีพฤติกรรมแบบละครไทยหนังไทยผิดมนุษย์มนาจริง ๆ ไปมาก
ผลการสำรวจความนิยม
นาคี ถูกยกให้เป็นละครแห่งปีจากสื่อบันเทิง และโพลมหาชนสำนักต่าง ๆ ติดเทรนด์อันดับหนึ่งกระแสโซเชียลยอดนิยมของโลก คนในวงการบันเทิงยกย่องให้เป็นละครแห่งปี 2559 ณฐพร เตมีรักษ์ นักแสดงนำของละครเรื่องได้รับฉายาว่า “คำแก้ว ให้แต้วเกิด” จากสมาคมนักข่าวบันเทิง และถูกยกให้เป็น “นางเอกในดวงใจ” อันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนร้อยละ 25.1% นอกจากนี้ยังได้รับรางวัล APOP ขวัญใจประชาชนจากอมรินทร์ทีวี
สำนักงานวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่องที่สุดแห่งความบันเทิงปี 2559 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพจำนวน 1,241 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2559 นาคี ถูกจัดให้อยู่อันดับหนึ่งละครที่ประชาชนชอบมากที่สุดแห่งปี ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 75.6 ในขณะที่ ณฐพรถูกจัดให้อยู่อันดับหนึ่งดาราหญิงที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดแห่งปี ได้คะแนนร้อยละ 54.5% และ ภูภูมิ พงศ์ภาณุ ก็ถูกจัดอันดับหนึ่งดาราชายที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดแห่งปีเช่นเดียวกัน ได้คะแนนร้อยละ 33.33%
กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2559” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,160 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2559 อันดับหนึ่งที่สุดของละครไทยที่ชื่นชอบ ได้แก่ นาคี ซึ่งได้คะแนนไป 71.6% อันดับหนึ่งดาราหญิงที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบได้แก่ ณฐพร ร้อยละ 27.6% และอันดับสามดาราชายที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบได้แก่ ภูภูมิ ร้อยละ 12.8%
สวนดุสิตโพล โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน กรณี “ที่สุดแห่งปี” ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 5,694 คน ระหว่างวันที่ 10-29 ธันวาคม 2559 ณฐพรถูกจัดอันดับสองดาราหญิงที่ชื่นชอบมากที่สุด ร้อยละ 26.10%
อีสานโพล โดยศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “รางวัลแห่งปีของคนอีสาน ปี 2559” จากกลุ่มตัวอย่าง 2,530 คน นาคี ถูกจัดอันดับหนึ่งละครจอแก้วแห่งปี ได้คะแนนร้อยละ 23.7% ณฐพรถูกจัดอันดับหนึ่งนางเอกแห่งปี ร้อยละ 15.1% ภูภูมิอันดับสองพระเอกแห่งปี ร้อยละ 9.7% “คู่คอง” อันดับหนึ่งเพลงดังแห่งปี ร้อยละ 14.6% ก้อง ห้วยไร่ อันดับหนึ่งนักร้องชายแห่งปี ร้อยละ 12.7%
ส่วนอีกเพลงที่ใช้ประกอบคือ เพลง “ขาดเธอขาดใจ” (เพลงปิดเรื่องตอนที่ 1-10) ขับร้องโดย ชาติชาย มานิตยกุล
รางวัลที่ชนะ
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 31
องค์ประกอบศิลป์ดีเด่น นาคี
นักแสดงนำหญิงดีเด่น ณฐพร เตมีรักษ์
ละครดีเด่น นาคี
ดาราเดลี เดอะเกรต อวอร์ดส์ ครั้งที่ 6
ละครที่สุดแห่งปี 2016 นาคี
ฟีเวอร์อวอร์ดส์ 2016
ละครโทรทัศน์ฟีเวอร์ นาคี
ผู้กำกับฟีเวอร์ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ฮาว อวอร์ดส์ 2016
นักแสดงดาวรุ่งหญิง ณฐพร เตมีรักษ์
เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2017
นักแสดงหญิงที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด ณฐพร เตมีรักษ์
ละครที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด นาคี
แคส อวอร์ดส์ 2017
นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมแห่งปี ณฐพร เตมีรักษ์
รางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ดส์ ครั้งที่ 10
คนเบื้องหลังแห่งปี พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ทีมสร้างสรรค์แห่งปี ทีมคอมพิวเตอร์กราฟิก
นักแสดงหญิงแห่งปี ณฐพร เตมีรักษ์
คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 14
ผู้กำกับละครยอดเยี่ยม พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 8
ละครยอดเยี่ยม นาคี
ผู้กำกับยอดเยี่ยม พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ณฐพร เตมีรักษ์
นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม อริศรา วงษ์ชาลี
ทีมนักแสดงยอดเยี่ยม นาคี
เพลงละครยอดเยี่ยม “คู่คอง” – ก้อง ห้วยไร่
กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ณรงค์ บุญบำรุง
กำกับภาพยอดเยี่ยม พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ลำดับภาพยอดเยี่ยม ธนอรรถ กาสุริย
เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ภูริวัตร กิตติศรีไสว,ศิรินาจ ถาวรวัตร์,ชานนท์ ไวทยะบูลย์
รางวัลพิฆเนศวร ครั้งที่ 5
ผู้กำกับละครดีเด่น พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ละครดีเด่น นาคี
นักแสดงสบทบหญิงดีเด่น อริศรา วงษ์ชาลี
International Drama Festival in Tokyo 2017
Special Award for Foreign Drama ละครต่างชาติยอดเยี่ยม นาคี