ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567 ความรักต้องห้ามในวัง แต่เมื่อความรักไม่อาจเปิดเผย เมื่อความรู้สึกไม่ถูกยอมรับ และความรักไม่ใช่แค่เรื่องของ 2 คน พร้อมเปิดบทพิสูจน์รักต้อง “ไม่ห้าม”

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567 ละครยูริแนวพีเรียดโรแมนติกดราม่า ที่เล่าเรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างหญิงสาวสองคนในวังหลวง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยในสมัยนั้นไม่ยอมรับ เรื่องราวของความรัก ความแค้น และความขัดแย้งภายในวังได้ถูกนำเสนอออกมาอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ชมได้ติดตามและอินไปกับตัวละคร

ละครเรื่องนี้ดำเนินเรื่องในช่วงยุคสมัยโบราณของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความเชื่อและขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับความรักและเพศมีความเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชั้นสูงอย่างเช่นในวังหลวง เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “หม่อมขำ” และ “หม่อมสุด” สองสตรีในวังได้มีความรู้สึกพิเศษต่อกัน แต่ความรักของทั้งคู่กลับต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ทั้งจากสังคมรอบข้างที่ไม่ยอมรับ รวมถึงอำนาจและความขัดแย้งภายในวัง


ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567 EP.1-14VIPA​​​​

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567 EP.1-14THAIPBS​​​​

ซีน ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567

ตัวอย่างละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ [Official MV] ในความทรงจำ (In loving Memory) Ost.หม่อมเป็ดสวรรค์

ละคร หม่อมเป็ดสวรรค์ 2567

บทพิสูจน์ความรักภายใต้บรรทัดฐานของความไม่เท่าเทียม จะเป็นอย่างไร ?

“คุณขำ” กับ “คุณสุด” เป็นหม่อมห้ามใน “กรมพระราชวังบวรฯ” ทั้งสองคนมีความรู้สึกเกินเพื่อนให้แก่กัน แต่ไม่กล้าเปิดเผยให้อีกฝ่ายรู้ ทำได้แค่ดูแลกันอยู่ห่าง ๆ จนกระทั่งเมื่อกรมราชวังบวรฯ สิ้น คุณสุดก็ถูกทาบทามให้เข้าไปรับราชการในพระตำหนักใหญ่ของ “พระองค์เจ้าวิลาส” พระเชษฐภคินีของ “พระองค์เจ้าสังข์” เหลือก็แต่คุณขำที่ยังหลักลอย จนสุดท้ายต้องกลับไปอยู่บ้านเกิดที่อัมพวา กับ “นายคร้าม” ผู้เป็นพ่อ บทสรุปความรักของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร ? โปรดติดตามชมได้ในละคร “หม่อมเป็ดสวรรค์

ผู้กำกับละคร : ถา – สถาพร นาควิไลโรจน์

นักแสดง
อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ รับบท หม่อมขำ (หม่อมเป็ด)
เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ รับบท หม่อมสุด (คุณโม่ง)
สินจัย เปล่งพานิช รับบท พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี
มณีรัตน์ คำอ้วน รับบท พระองค์เจ้าวิลาส (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ)
สิทธา สภานุชาติ รับบท คุณพระเจนอภิบาล
นนทัช ธนวัฒน์ยรรยง รับบท เจ้าจางวางหมอ (กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท)
กิติกร โพธิ์ปี รับบท พระองค์เจ้าสังข์ (พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ)
ชุติมา สิงห์ใจชื่น รับบท หม่อมงิ้ว
อนุชิต สพันธุ์พงษ์ รับบท สุนทรภู่
หัสสยา อิสริยะเสรีกุล รับบท คุณสุวรรณ
ณัฐพล ดิลกนวฤทธิ์ รับบท ประจง
กิตติภัทร แก้วเจริญ รับบท ขวัญ

หม่อมเป็ดสวรรค์ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ กำกับการแสดงโดยสถาพร นาควิไลโรจน์ เตรียมออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส เนื้อหาเป็นเรื่องราวการเล่นเพื่อนของหม่อมห้ามทั้งสองคน ถือเป็นภาพยนตร์ซีรีส์หญิงรักหญิงแนวย้อนยุคเรื่องแรกของประเทศไทย โดยอัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ รับบทเป็นหม่อมขำ และเฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ รับบทเป็นหม่อมสุด สิทธา สภานุชาติ รับบทเป็นเจ้าคุณเจนอภิบาล หัสสยา อิสริยะเสรีกุล รับบทเป็นคุณสุวรรณ มณีรัตน์ คำอ้วน รับบทเป็น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ กิติกร โพธิ์ปี รับบทเป็นพระองค์เจ้าสังข์ และณภัค เจนจิตรานนท์ รับบทปาน

เนื้อหาเป็นการขยายความจากเพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ ด้วยการเสริมแต่งเรื่องราวในช่วงที่หม่อมขำแยกจากหม่อมสุดที่พระราชวังบวรสถานมงคล และยังไม่ได้กลับเข้ารับราชการในพระบรมมหาราชวัง หม่อมขำจำต้องกลับไปขายขนมไทยพอจุนเจือชีวิตอยู่ที่เมืองอัมพวาบ้านเดิม โดยได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าคุณเจนอภิบาลที่ชอบพอหม่อมขำ ในเวลาต่อมาหม่อมขำได้รับการชักชวนจากคุณสุวรรณให้กลับเข้ารับราชการในพระตำหนักใหญ่ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพโดยใช้ปากะศิลป์ของตนให้เกิดประโยชน์ ที่สุดหม่อมขำตัดสินใจไม่สมรสกับเจ้าคุณเจนอภิบาล หากแต่เลือกหม่อมสุดเป็นคู่ชีวิต

หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นกลอนเพลงยาว แต่งโดยคุณสุวรรณ หญิงนางในและเป็นราชินิกุลในตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเธอมีชื่อเสียงเจนจัดด้านการแต่งกลอน จนผู้คนสามารถจดจำและท่องบทกลอนที่เธอแต่งได้ คาดว่าเพลงยาวนี้น่าจะแต่งขึ้นช่วง พ.ศ. 2384–2385 หรือ พ.ศ. 2384–2386 โดยแต่งต่อเนื่องกับ เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งแต่งโดยคุณสุวรรณเช่นกัน บางแห่งให้ข้อมูลว่า ไม่ปรากฏนามผู้แต่งเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และหากเป็นผลงานของคุณสุวรรณจริง ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในงานไม่กี่ชิ้นที่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชน

เรื่องราวของ หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องราวของนางในผู้รับราชการอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง อันเป็นสังคมปิดที่รายล้อมไปด้วยสาวสรรกำนัลใน มีตัวละครหลักอยู่สองตัว คือ หม่อมสุด หรือสมญาว่า “คุณโม่ง” และหม่อมขำ มีสมญาว่า “หม่อมเป็ด” ทั้งสองเป็นอดีตบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หลังเจ้าวังหน้าเสวยทิวงคตไปแล้ว ทั้งสองถูกโอนเข้ามาเป็นข้าอยู่ในตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทั้งสองจึงคบหากัน หรือที่สมัยนั้นเรียกความสัมพันธ์อย่างนี้ว่า “เล่นเพื่อน” เนื้อหาในเพลงยาวมุ่งเฉพาะเรื่องชวนหัวของหม่อมสุดและหม่อมขำ ซึ่งสมญาของทั้งสองก็นำมาจากบุคลิกและพฤติกรรมที่ดูน่าขบขันเป็นสำคัญ  เนื้อหาของเรื่องจัดอยู่ในแนวเสียดสีสังคม และสะท้อนภาพสังคม

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ หม่อมเป็ดสวรรค์ ไม่มีท่าทีต่อต้านการรักร่วมเพศของสตรีในพระบรมมหาราชวังแต่อย่างใด เนื้อหาสะท้อนถึงลักษณะของสังคมไทยในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้ เช่น บรรยายความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของสตรีชาววัง  อีกทั้งยังปรากฏอาหาร วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม และเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคนั้นได้อย่างละเอียดชัดเจน  เช่น การขับเสภา ความนิยมในการเป่ายานัตถุ์ วัฒนธรรมการกินหมาก การไว้ผมกันไร ค่านิยมไว้ฟันดำคือคนงาม หรือการใช้เทียนให้ความสว่าง มีการอธิบายสิ่งที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น เช่น ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง ข้าวเหนียวสังขยา ขนมจีนน้ำยา ขนมปลากริม มีตัวละครที่เป็นคนดังของยุคนั้น เช่น ตาแจ้งถนนอาจารย์ นายมี หรือจีนยู และยังทำให้ทราบถึงภูมิความรู้ด้านประดิษฐกรรมของคนสยามยุคก่อน อย่างเช่น การทำฟันปลอมด้วยกะลามะพร้าว เป็นต้น

ต้นฉบับ หม่อมเป็ดสวรรค์ ดั้งเดิมคงถูกบันทึกลงบนสมุดข่อย ตามความนิยมในช่วงเวลานั้น  กระทั่งธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ค้นพบต้นฉบับเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ใน พ.ศ. 2507 ได้หรีด เรืองฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีของกรมศิลปากรได้เขียนคำอธิบายประกอบเนื้อหาไว้ด้วย มีสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ และสำนักพิมพ์จะต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนนำไปตีพิมพ์ ทั้งนี้เคยมีการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา

และช่วงปลาย พ.ศ. 2566 ไทยพีบีเอสสนใจนำ หม่อมเป็ดสวรรค์ ไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ซีรีส์ โดยมีสถาพร นาควิไลโรจน์ เป็นผู้กำกับ หากออกฉายก็จะเป็นซีรีส์หญิงรักหญิงแนวย้อนยุคเรื่องแรกของประเทศไทย โดยมีอัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ รับบทเป็นหม่อมขำ และเฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ รับบทเป็นหม่อมสุด

ที่มาของเรื่อง

หม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องราวที่เรียงร้อยมาจากเรื่องจริง และตัวละครในเพลงยาวก็มีตัวตนจริง ผ่านตัวละครที่เป็นหญิงรักหญิง โดยผู้แต่งหยิบยกเรื่องส่วนตัวของหม่อมสุด และหม่อมขำ นางในสองคนที่รับราชการพระราชวังบวรสถานมงคล (หรือ วังหน้า) มาก่อน เดิมเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ภายหลังเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทิวงคตใน พ.ศ. 2375 หม่อมสุดจึงโอนเข้าไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (หรือ วังหลวง) ทำหน้าที่เป็นผู้อ่านบทกลอนก่อนบรรทมในพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเรียกกันว่า “พระตำหนักใหญ่”

เจ้าของตำหนักเป็นพระราชธิดาพระองค์โปรดในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาต่อมาหม่อมขำจึงย้ายมารับราชการในวังหลวงในพระตำหนักใหญ่เช่นเดียวกับหม่อมสุด ทั้งสองคบหากันอย่างเปิดเผย หรือที่ศัพท์สมัยนั้นเรียกว่า “เล่นเพื่อน” เป็นที่รู้กันทั่วไปในราชสำนัก และทั้งสองก็มักจะมีเรื่องวิวาทกันเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ คุณสุวรรณ ซึ่งเป็นจินตกวีฝีปากดีผู้มีชื่อแห่งพระตำหนักใหญ่ จึงแต่งเพลงยาวเพื่อล้อเลียนนางข้าหลวงทั้งสองคน  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงคุณสุวรรณเอาไว้ ความว่า

“คุณสุวรรณเป็นจินตกวีผู้รู้รสกวีดีคนหนึ่ง แต่งบทกลอนดี ทั้งในเวลาสำเริงสุขและเวลาที่ทุกข์ร้อน อื่นจากเพลงยาว 2 เรื่องนี้แล้ว [คือ เพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ และ เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ] ยังได้แต่งบทละคอนอุณรุทร้อยเรื่องและบทละคอนเรื่องพระมะเหลเถไถไว้อีก เป็นกวีหญิงที่มีชื่อเสียงสืบมากระทั่งทุกวันนี้”

จุดประสงค์ในการแต่งเพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ คือแต่งให้ชาววังด้วยกันอ่านเล่นเป็นสนุกสนาน ส่วนหม่อมสุดและหม่อมขำจะสนุกกับเพลงยาวนี้ด้วยหรือไม่ ยังไม่เป็นที่ทราบ แต่เรื่องราวของทั้งสองยังปรากฏต่อใน เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นผลงานของผู้แต่งคนเดียวกัน คือคุณสุวรรณ  ขณะที่เว็บไซต์ของ นามานุกรมวรรณคดีไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ให้ข้อมูลว่า เพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง[

อย่างไรก็ตามการกระทำของหม่อมสุดและหม่อมขำ ถือเป็นการผิดกฎมนเทียรบาล มาตรา 124 วรรคสอง ระบุว่า “อนึ่งสนม กำนัลคบผู้หญิงหนึ่งกันทำดุจชายเปนชู้เมียกัน ให้ลงโทษด้วยลวดหนัง ๕๐ ที ศักฅอประจานรอบพระราชวัง ทีหนึ่งให้เอาเปนชาวสดึง ทีหนึ่งให้แก่พระเจ้าลูกเธอหลานเธอ”

  แม้จะผิดครรลองของราชสำนัก แต่กรณีของทั้งสองได้รับการผ่อนปรน เพราะถือว่ามิใช่ความผิดร้ายแรง อีกทั้งกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเองก็มิทรงถือโทษกับพฤติกรรม “เล่นเพื่อน” ของทั้งสอง ทรงชุบเลี้ยงอย่างดีเป็นที่โปรดปราน และมีพระเมตตากับทั้งสองมาโดยตลอด ครั้งหนึ่งหม่อมสุดและหม่อมขำเคยทะเลาะกันจนลูกกรงไม้สักที่เฉลียงในพระตำหนักใหญ่หัก ทว่าหลังทั้งสองให้การสารภาพผิด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็มิทรงเอาความ แล้วให้ทหารในมาซ่อมแซมเฉลียงใหม่

เนื้อเรื่อง

ช่วงต้น
ตอนต้นของเรื่องเริ่มจากการอธิบายความเป็นมาของหม่อมสุดและหม่อมขำ ซึ่งเป็นตัวละครหลัก โดยให้ข้อมูลเพียงว่าทั้งสองเคยรับราชการเป็นบาทบริจาริกาหรือนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จนกระทั่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสวยทิวงคต ทั้งสองจึงตกพุ่มหม้าย และเริ่มสานสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิง หรือที่เรียกว่า “เล่นเพื่อน” ดังปรากฏในกลอน ความว่า

จะกล่าวถึงหม่อมสุดนุชนาฏ เป็นข้าบาทพระราชวังบวรสถาน
เป็นหม่อมห้ามขึ้นระวางนางอยู่งาน ครั้นเสด็จเข้าพระนิพพานล่วงลับไป
คิดถึงพระเดชพระคุณให้มุ่นหมก แสนเศร้าเปล่าอกตกเป็นหม้าย
ได้แต่เห็นหน้าหม่อมขำคอยช้ำใจ รักใคร่แนบข้างไม่ห่างทรวง

ต่อมาหม่อมสุด ได้โอนย้ายไปรับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง หรือที่เรียกว่า “พระวังหลวง” ในพระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ที่เรียกกันว่า “พระตำหนักใหญ่” ภายหลังหม่อมสุดได้ชักชวนให้หม่อมขำมาทำงานอยู่ในพระวังหลวงด้วยกัน ที่สุดหม่อมขำได้ถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้หม่อมขำไปรับราชการอยู่ที่พระตำหนักใหญ่ด้วยกันกับหม่อมสุด ชีวิตใหม่ในพระตำหนักใหญ่ของหม่อมสุดและหม่อมขำนั้นไปได้สวย เพราะกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพโปรดปรานทั้งคู่ โดยระบุในกลอนว่า “ในเสด็จใช้นางอย่างผู้ดี” และกล่าวอีกว่าหม่อมขำได้แต่งตัวสวยเหมือนสาวน้อยอยู่ตลอด กระนั้นหม่อมขำนั้นเสียฟันไปแล้วหลายซี่ จึงต้องใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลามะพร้าว ปรากฏในกลอน ความว่า

ฝ่าพระบาทจึ่งพระราชทานนาม ยกจากห้ามขึ้นเป็นจอมเรียกหม่อมเป็ด
ริมฝีปากสู้เอากระเหม่าเช็ด ในเสด็จใช้นางอย่างผู้ดี
หมั่นผัดพักตร์ผิวผ่องละอองหน้า แต่ทันตาอันตรายไปหลายซี่
ประจงจัดตัดกะลาที่หนาดี ใส่เข้าที่แทนฟันทุกอันไป
ที่ไม่รู้ดูเหมือนกับสาวน้อย กระชดกระช้อยเจรจาอัฌชาสัย
คุณสุดสุดสวาทจะขาดใจ แต่เวียนไปเวียนมาทุกราตรี

ข้างหม่อมสุดเองก็เป็นคนรู้หนังสือดี มีฝีปากดี มีไหวพริบในเชิงกาพย์กลอน ผู้แต่งได้กล่าวชมเชยหม่อมสุดว่าเก่งกว่านักเลงกลอนที่เป็นชายบางคน ไว้ว่า “ถึงนายแฟงนายคงครูสู้ไม่ได้”  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงให้หม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ก่อนบรรทมเป็นประจำทุกคืน แต่หม่อมสุดนั้นชอบเล่นเพื่อนกับหม่อมขำ มีคืนหนึ่งหม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำคัญว่าเจ้านายบรรทมแล้ว ก็ดับเทียนเอาผ้าคลุมกอดจูบกับหม่อมขำชุลมุนวุ่นวายอยู่ที่ปลายพระบาท ขณะนั้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่บรรทม และทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์ของทั้งคู่ พระองค์จึงประทานชื่อแก่หม่อมสุดว่า “คุณโม่ง” เพราะนำผ้ามาคลุมโปงเล่นเพื่อน ส่วนหม่อมขำเองก็ชอบเดินส่ายกิริยาเหมือนเป็ด จึงพระราชทานนามว่า “หม่อมเป็ด” ดังปรากฏในกลอน ความว่า

ครั้นพระองค์ทรงพลิกพระกายกลับ หมายว่าพระบรรทมหลับสนิทนิ่ง
ก็สมจิตคิดไว้ใจประวิง ก็คลานชิงกันขยับดับเทียนชัย
เข้าชุลมุนวุ่นวายอยู่ปลายพระบาท ก็คิดคาดเอาว่าคนหาเห็นไม่
จึ่งกระทำเอาแต่อำเภอใจ ด้วยแสงไฟมืดมิดไม่มีโพลง
กระซุบกระซิบซุ่มกายอยู่ปลายพระบาท อุตลุดอุดจาดทำอาจโถง
เอาเพลาะหอมกรอมหุ้มกันคลุมโปง จึ่งเรียกว่าคุณโม่งแต่นั้นมา
ข้างหม่อมเป็ดเสด็จท่านโปรดปราน ได้ประทานเปลี่ยนนามตามยศถา
เพราะเดินเหินโยกย้ายส่ายกิริยา จึ่งชื่อว่าหม่อมเป็ดเสด็จประทาน

ช่วงกลาง

ครั้งหนึ่งหม่อมขำชวนข้าของเสด็จในกรมลงแพว่ายน้ำที่พระตำหนักแพ (ปัจจุบันคือท่าราชวรดิฐ) แล้วเรียกเรือขายขนมจีนเพื่อซื้ออาหารรับประทานเล่น หม่อมขำซื้อของมากินหลายอย่าง ในท้องกลอนระบุไว้ว่า “ทั้งห่อหมกนกคั่วใบบัวอ่อน ทอดมันจันลอนไว้หนักหนา” เมื่อรับประทานมากเข้า สักพักหนึ่งหม่อมขำก็ปวดท้อง แต่มิกล้าบอกใครเพราะกระดากอาย อีกสักพักหนึ่งท้องไส้ก็ปั่นป่วนจนหม่อมขำอดทนไม่ไหว ก็รีบวิ่งไปสรีร์สำราญ แต่ปรากฏว่าไปไม่ทัน หม่อมขำทำอุจจาระเล็ดราดไปตามทาง หลังจากนั้นหม่อมขำจึงซื้อขนมเป็นกำนัลให้ตาเฒ่าที่เฝ้าตำหนักใช้ให้ไปทำความสะอาดแทนให้สิ้นกลิ่น แล้วห้ามตาเฒ่านำเรื่องนี้ไปแพร่งพรายแก่ผู้ใด

  ต่อมาหม่อมขำนั่งเล่นไพ่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และข้าของเสด็จในกรมอีกหลายคน หลังเล่นไปแล้วหลายกระดาน หม่อมขำก็ปวดท้องหนักจนทนไม่ไหว จึงรีบถวายบังคมออกไปสรีร์สำราญ เมื่อปลดทุกข์เรียบร้อยดีแล้ว หม่อมขำเกิดหิวขึ้นมา ก็ลอบนำผลทุเรียนและเม็ดบัวมารับประทาน แต่เคี้ยวไม่เข้าเพราะใช้ฟันปลอม และเหลือฟันแท้ไว้ขบอาหารน้อยซี่ หม่อมขำจึงนำเนื้อทุเรียนและเม็ดบัวไปตำในตะบันให้แหลก ด้วยสำคัญว่าไม่มีใครเห็น แต่ปรากฏว่าลุงทองจีนเห็นพฤติการณ์ทั้งหมด ก็ถามหม่อมขำว่า “อะไรในตะบัน” หม่อมขำตอบว่า “ตะบันหมากกินดอกจ๊ะลุงจ๋า” ลุงทองจีนก็ว่า “อันคนแก่ตะบันหมากมากด้วยกัน แต่ซึ่งตะบันทุเรียนหามีไม่ ผลบัวก็ตะบันขันสุดใจ น่าจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์”

หม่อมขำมีปัญหากับฟันปลอมเป็นประจำ ครั้งหนึ่งหม่อมขำกำลังเจรจากับหลวงนายศักดิ์อย่างออกรส จนทำฟันปลอมของตนกระเด็นตกลงหน้าหลวงนายศักดิ์เพราะไหมที่ผูกไว้กับฟันนั้นเปื่อย หลวงนายศักดิ์ก็ทักถามทันที หม่อมขำก็อ้างว่าหมากกระเด็นออกจากปากเพราะบ่าวตะบันไม่ใคร่แหลก แล้วแก้เกี้ยวด้วยการหันไปเอ็ดบ่าวของตัว แล้วรีบผูกฟันปลอมเข้ากับปากให้เรียบร้อย

  วันหนึ่งหม่อมขำเข้าออเซาะหม่อมสุดว่าอยากได้ของเปรี้ยวหวานไว้กิน หม่อมสุดก็ว่ามีของกินในห้องของตน หม่อมขำจึงรีบเข้าไปหาของกินในห้องของหม่อมสุด ก็พบกับก้อนเกลือสินเธาว์ก้อนใหญ่ไว้ทำยา แต่หม่อมขำเข้าใจว่าเป็นขัณฑสกร เมื่อรับประทานเข้าไปมีรสเค็มก็พาลโกรธหม่อมสุด แม้หม่อมสุดจะปลอบเท่าไร หม่อมขำก็ยิ่งโกรธแกล้งแสร้งสำออย หยิกตีตะกายหม่อมสุด ประกาศตัดขาดจากกัน ด่าทอประชดประชัน และทวงสิ่งของของกันและกันจนเรื่องราววุ่นวายใหญ่โต แต่พอตกดึกทั้งสองก็คืนดีกัน

เมื่อคราวจางวางหมอได้เข้ามาถวายการรักษากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยมีหม่อมขำคอยถวายรายงานพระอาการของเสด็จในกรม เมื่อจางวางหมอถวายการรักษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หม่อมขำก็เพ็ดทูลอาการของตัวว่าปวดศีรษะและมึนศีรษะมาช้านาน จางวางหมอตัดสินพระทัยเป่ายานัตถุ์ให้หม่อมขำ แต่ด้วยฤทธิ์ของยานัตถุ์ทำให้หม่อมขำจามออกมาอย่างแรง จนฟันปลอมของตนกระเด็นตกลงต่อหน้าพระพักตร์จางวางหมอ จางวางหมอก็ทรงพระสรวล แล้วชมว่ายานัตถุ์ของพระองค์นี้ดีนัก หม่อมขำรีบแกล้งไถลตัวออกจากที่ด้วยกระดากอายยิ่งนัก

น้ำตาไหลไอจามศีรษะฟัด จนฟันพลัดตกเปาะจำเพาะพักตร์
กรมหลวงทรงทอดพระเนตรมา เห็นกะลาทำฟันให้ขันหนัก
แล้วก็ทรงพระสรวลสำรวลคัก หม่อมอายนักก้มหน้าไม่พาที
เสด็จตรัสว่ายานัตถุ์ดีขยัน แต่ฟันคนเจียวยังหลุดออกจากที่
นี่หรือโรคจะไม่คลายหายดี บัดเดี๋ยวนี้ก็จะหายไปคล้ายฟัน
หม่อมเป็ดอายเสด็จไม่อยู่ได้ แกล้งไถลเลื่อนหลีกไปจากนั่น

ต่อมาเป็นเนื้อหาที่ผู้แต่ง คือคุณสุวรรณ อุทธรณ์ว่าตนเองมิใช่คนที่นำเรื่องลับของหม่อมขำไปแพร่งพรายเพียงผู้เดียว โดยได้กล่าวซัดทอดคุณชีเหม ลุงทองจีน หลวงนายศักดิ์ นายผึ้ง ตาแจ้ง ส่วนคุณสุวรรณนั้นอ้างว่าตนได้ยินได้ฟังมาจากคนที่ตำบลถนนอาจารย์เล่าลือเรื่องเก่าเรื่องแก่ของหม่อมขำ และกล่าวอีกว่ามีตาแจ้งกับนายมีเข้าไปขับเสภาล้อเลียนหม่อมขำในพระตำหนักใหญ่ เมื่อหม่อมขำได้ฟังก็รู้สึกละอายใจลุกออกจากที่ แล้วไปนั่งอยู่ที่เก๋งเสวยพลางบ่นว่า เบื่อตาแจ้งนายมีมาเห่าหอนดั่งหมาเดือนสิบสอง พอถึงเวลาอาหารค่ำ อีเปียได้เข้าไปชักชวนหม่อมขำเข้าไปร่วมวงรับประทานอาหารด้วยกัน แต่หม่อมเป็ดกล่าวกับอีเปียว่า “พี่เสียใจ ไม่ไปกินแล้วของคาวหวาน” จนลุงทองจีนตามหม่อมขำไปรับประทานอาหารด้วยกัน หม่อมขำเกรงใจลุงทองจีนแล้วกล่าวว่าจะตามเข้าไป

จากนั้นหม่อมขำรู้สึกปวดท้องหนักก็รีบเข้าไปอุจจาระที่สรีร์สำราญ เมื่อขับถ่ายเสร็จก็พบหม่อมสุดเดินมาพอดี หม่อมสุดชวนไปรับประทานข้าวมันด้วยกัน หลังรับประทานอาหารเสร็จ ยายปาน ลูกบุญธรรมของหม่อมขำก็ออกปากชมตาแจ้งว่าขับเสภาได้ดี ทั้งขับได้ไพเราะ และตลกมากเสียด้วย ฝ่ายหม่อมขำได้ยินดังนั้นก็โกรธ พลางกระทืบเท้าแล้วพูดว่า “ออปานลูกมึงจะถูกไม้เรียวรึ คนอะไรไม่มีอัธยา อย่ามานั่งอยู่ที่กูดูไม่ได้”  ตกดึกคืนนั้นหม่อมขำเรียกให้แพทย์วาโยมานวดให้ แต่หม่อมสุดบอกว่าจะนวดให้แทน ระหว่างนั้นหม่อมขำก็กล่าวว่าตนเจ็บใจที่คุณชีเหมเอาเรื่องไม่ดีของตนไปไขแก่ผู้อื่นในพระตำหนักจนตนรู้สึกอับอาย หม่อมสุดปลอบประโลมว่าตนเข้าใจหม่อมขำ หม่อมสุดกล่าวอีกว่า หากใครไม่ดีต่อเราให้ตัดออกไป ส่วนใครที่ว่าร้ายก็ไม่ต้องไปโต้ตอบให้นิ่งเสีย จากนั้นทั้งสองก็ผล็อยหลับไป

ช่วงท้าย

หม่อมสุดเข้ามานอนที่ห้องของหม่อมขำหลายคืนแล้ว และตัวหม่อมขำเองก็ยังไม่กล้าออกไปสู้หน้าใครข้างนอก เพราะยังชอกช้ำกับเสภาของตาแจ้งนายมีอยู่ ทั้งยังพาลโกรธข้าคนอื่นในตำหนักอยู่หนักหนา ในเวลาต่อมาก็มีการขับเสภาในพระตำหนักอีกครั้ง ตาแจ้งนายมีก็ขับเกริ่นเรื่องราวของหม่อมขำอีก หม่อมขำกับหม่อมสุดซึ่งหนีไปนั่งอยู่ที่เฉลียงได้ยินเสภาดังนั้นก็โกรธอีก หม่อมขำกล่าวว่า “เกลียดตาแจ้งบ้า เฝ้าขับเรื่องเราร่ำไปได้ ไม่รู้แล้วรู้รอดสอดพิไร เฝ้าค่อนขอดแคะไค้เจ็บใจจริง” พอเสภาจบตอนพลบค่ำ คนก็เดินมาที่หน้าเฉลียง หม่อมขำอับอายจึงจะลุกวิ่งออกไปไกล ๆ หม่อมสุดก็รั้งตัวไว้บอกว่าให้นั่งนิ่ง ๆ ไม่เป็นอะไรหรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่หม่อมสุดกลับไปบอกอีกว่า ไม่ให้หม่อมขำไปโกรธตาแจ้งเลย

เพราะหม่อมสุดก็ชอบตาแจ้งเหมือนกัน เมื่อหม่อมขำได้ยินดังนั้นก็โกรธหม่อมสุดเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วทะเลาะกันกับหม่อมสุด ลุงทองจีนขึ้นมาห้ามปรามทั้งคู่ แต่ทั้งหม่อมสุดและหม่อมขำก็วิ่งหนีซ่อนตัวด้วยความอับอาย วิ่งวนเวียนไปมาจนไม้เฉลียงหักตกลงไปทั้งคู่ หม่อมสุดล้มทับหม่อมขำจนน้ำตาไหลออกมาด้วยความเจ็บปวด จากนั้นทั้งสองแสร้งทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วคืนนั้นทั้งสองก็นอนกอดกันอย่างเป็นสุข

  รุ่งขึ้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงตรัสหาหม่อมเป็ดสวรรค์ว่าเหตุใดไม้ตรงเฉลียงจึงหักเช่นนั้น หม่อมขำอ้างว่าเมื่อคืนคนฟังเสภาเยอะมาก เฉลียงเลยรับน้ำหนักไม่ไหวจึงหักลง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสดับคำแก้ตัวของหม่อมเป็ดดังนั้น ก็ทรงตวาดด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า ทรงทราบความจริงทั้งหมดอยู่แล้ว ใยหม่อมเป็ดยังคิดโกหกเช่นนี้อีก หม่อมขำเองเกรงราชทัณฑ์ จึงก้มลงกราบออกรับสารภาพต่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แล้วกล่าวอีกว่าหากตาแจ้งมาขับเสภาต่อว่าตนเองอีก จะไม่โกรธขึ้งดังนี้อีก ดังปรากฏในกลอน ความว่า

พระทรงฟังกริ้วกราดตวาดดัง ชะเจ้าช่างเบือนบิดคิดแก้ไข
จะแกล้งมาพูดบิดคิดเลี้ยวลด เขารู้พยศเจ้าทุกอย่างมาพรางกัน
หม่อมเป็ดได้ฟังรับสั่งกริ้ว ทำหน้าจิ๋วร้อนจิตคิดพรั่น
ใจระเริ่มรัวกลัวราชทัณฑ์ อภิวันท์สารภาพกราบกราน
ได้พลั้งพลาดขอพระราชทานโทษ ขอพระองค์ทรงโปรดกระหม่อมฉาน
ไปเบื้องหน้าตาแจ้งถนนอาจารย์ จะขับเสภาว่าขานไม่เคืองใจ

หลังหม่อมขำสารภาพไปตามสัตย์ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพก็ทรงยกโทษให้หม่อมขำ แล้วมีรับสั่งให้ทหารในมาซ่อมแซมเฉลียงขึ้นใหม่ 

อยู่มาวันหนึ่ง หม่อมขำใคร่จะกินข้าวเหนียวสังขยา จึงใช้ให้ยายปานลงเรือใบไปซื้อสังขยาถึงเมืองละคร โดยเตรียมกาละมังโคมใบใหญ่เป็นภาชนะใส่อาหาร หลวงนายศักดิ์เห็นแล้วก็ตกใจว่าเหตุใดภาชนะใส่อาหารถึงใหญ่เพียงนั้น เมื่อยายปานกลับมาถึงห้อง หม่อมขำก็ลุกไปหยิบกาละมังแล้วขึ้นนั่งกินบนเตียง ปรากฏว่าพอหย่อนก้นลงได้เตียงไม้สักก็หักลง ในเวลาเดียวกันนั้นหม่อมขำก็ผายลมออกมาเสียงดัง ดังปรากฏในกลอน ความว่า

ฝ่ายหม่อมนิ่งนอนคอยคอยหา เห็นปานมาผุดลุกขึ้นจากหมอน
กำลังอยากสังขยาให้อาวรณ์ ถึงเตียงหย่อนก้นกักเตียงหักพลัน
พื้นพังดังสวบเสียงกรวบกราบ เสียงก้องกาบกาบเหมือนเป็ดขัน
กับหม่อมระบายผายลมประสมกัน เหมือนเป็ดสวรรค์ที่ฉันเลี้ยงไว้วัดระฆัง

หลังจากนั้นหลวงนายศักดิ์ได้ยินเรื่องราวดังกล่าวมา เมื่อพบตัวหม่อมขำก็หัวเราะเยาะให้ ว่าหม่อมขำกินสังขยาจนเตียงหักไป หม่อมขำก็คิดเกรงว่าเรื่องจะเลยไปถึง ลุงทองจีน นายผึ้ง ตาแจ้ง และหลวงนายอีกนายหนึ่งเป็นแน่ ค่ำคืนวันนั้นที่พระตำหนักใหญ่ทำขนมจีนน้ำยา ลุงทองจีนปรามหม่อมขำเพราะหม่อมขำกินขนมจีนทีไรจะท้องไส้ปั่นป่วนทุกที แต่หม่อมขำอยากกินขนมจีนน้ำยามาก จึงอ้างกับลุงทองจีนว่ามียาแก้อยู่บนห้อง ครั้นในเวลาสี่ทุ่มหม่อมขำก็เอาขนมจีนมาคลุกเคล้ารับประทาน แต่เมื่อกินได้เพียงเจ็ดคำก็อาการกำเริบ ก็เรียกใช้ยายปานไปเอายามาตำแล้วจึงหายดีแล้วหลับไป

ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมา หม่อมขำก็ชวนยายปานไปอาบน้ำด้วยกัน แต่เมื่อยายปานกำลังยกขันตักน้ำ ก็ล้มหน้าคะมำจนปากแตกหน้าซีดแล้วกรีดร้องออกมา ฝ่ายหม่อมขำเห็นเช่นนั้นก็ตกใจมาก จนตัวเองหน้ามืดล้มคว่ำลงบนอุจจาระของม้า หม่อมสุดเห็นเช่นนั้นก็ตกใจมาก รีบวิ่งมาพยาบาลทั้งสองคน เมื่อหม่อมขำได้สติสมประดี ก็นึกสงสารยายปาน เพราะไม่มียายปานใครจะขวนขวายหาหยูกยาหรือสังขยาเมืองละครมาให้ ครั้นมื่อตนเองว่างจากงานก็จะรีบขึ้นมาดูอาการยายปานอยู่เสมอ

อยู่มาวันหนึ่ง หม่อมสุดคิดทำข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง แต่ไม่พบกับหม่อมขำจึงฝากของกินไว้กับลุงทองจีน ลุงทองจีนก็ทำงานทั้งวันจึงมิได้นำของกินไปให้หม่อมขำ ครั้นตกเย็นเสร็จจากงานก็ให้บ่าวยกไปให้ที่ห้องหม่อมขำ ซึ่งข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้งก็บูดเน่าเหม็นโอ่เสียแล้ว แต่ด้วยความรัก แม้จะบูดอย่างไรหม่อมสุดก็ทำให้ตนด้วยความรัก หม่อมขำจึงรับประทานข้าวเหนียวบูดนั้นเอง ดังปรากฏในกลอน ความว่า

ก็ยกชามหยิบชิมยิ้มแผยะ ถึงบูดแฉะชั่วดีของพี่ให้
เพราะความรักชักให้อร่อยไป จนหมดชามปากไปล่ใช่พอการ
ตำราว่ารับประทานด้วยการรัก น้ำต้มฟักก็ซดเป็นรสหวาน
นี่ข้าวเหนียวบูดเหม็นไม่เป็นการ ยังรับประทานหมดได้ไม่พอพุง

ทว่าหลังจากรับประทานข้าวเหนียวบูดไปแล้ว หม่อมขำก็มีอาการปวดท้อง จึงจ้างให้ออพูมาช่วยนวดคลึงให้ทั้งคืนจวบจนอุษาสาง ฝ่ายออพูทนไม่ไหวก็หนีออกไปข้างนอกไม่กลับเข้ามาอีก ฝ่ายหม่อมสุดจึงโกรธเคืองต่อว่าออพูไว้หนักหนา และกล่าวว่าจะหักเงินค่าตัวของออพูเสียให้หมด แต่หม่อมขำรู้ตัวว่าใช้งานออพูหนักเกินไป จึงปลอบประโลมหม่อมสุดให้ใจเย็นลง

ในตอนจบ หม่อมขำฝันว่าชาวเมืองละครนำผลทุเรียนมาฝากหลายยวง และฝันอีกว่ามียายมาหยิบเอาฟันปลอมสามพวงของจีนยูมาให้หม่อมขำ พวงหนึ่งทำจากไม้มะเกลือ พวงสองทำจากกะลามะพร้าว และพวงที่สามทำจากไม้ทองหลาง เมื่อตื่นจากฝัน หม่อมเป็ดขำก็ว่าตนเองจะได้โชคลาภใหญ่เป็นแม่นมั่น

สิ่งที่ปรากฏในเรื่อง

ตัวละครหลัก

หม่อมสุด หรือ คุณโม่ง เดิมเป็นนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสวยทิวงคตแล้ว จึงย้ายมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ที่พระตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  หม่อมสุดเป็นผู้รู้หนังสือ รู้จักเขียนกาพย์เขียนกลอน กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงให้หม่อมสุดอ่านบทกลอนถวายเมื่อบรรทมเป็นประจำ หากมีกลอนตอนใดตกหล่นก็ใช้ไหวพริบแต่งแต้มกลอนนั้นจนสมบูรณ์ หม่อมสุดมีบุคลิกเหมือนผู้ชาย สังเกตได้ว่าเป็นผู้มีฝีปากดี พูดเล่นเฮฮาไม่เกรงใจใคร เธอคบหาทำหน้าที่เป็นเพื่อนชายอยู่กับหม่อมขำ

มีคืนหนึ่งหม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สำคัญว่าเจ้านายบรรทมแล้ว ก็ดับเทียนเอาผ้าคลุมกอดจูบกับหม่อมขำชุลมุนวุ่นวายอยู่ที่ปลายพระบาท ขณะนั้นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังไม่บรรทม และทอดพระเนตรเห็นพฤติการณ์ของทั้งคู่ พระองค์จึงประทานชื่อแก่หม่อมสุดว่า “คุณโม่ง” เพราะนำผ้ามาคลุมโปงเล่นเพื่อน ตามท้องกลอนก็เรียกหม่อมสุดว่า “คุณโม่ง” อยู่เสมอ

หม่อมขำ หรือ หม่อมเป็ด เดิมเป็นนางห้ามในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เช่นเดียวกับหม่อมสุด ภายหลังได้โอนย้ายมารับราชการในพระบรมมหาราชวัง ที่พระตำหนักของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพตามหม่อมสุด หม่อมขำมีบุคลิกเป็นหญิงกระชดกระช้อยเหมือนสาวน้อย รักสวยรักงาม แต่เสียฟันไปแล้วหลายซี่ ต้องบรรจงตัดกะลามะพร้าวมาทำเป็นฟันปลอมผูกไหมเข้ากับฟันแท้  และมักจะมีปัญหาฟันปลอมหลุดร่วงออกจากปากให้เป็นที่อับอายแก่เจ้าของอยู่เสมอ  ด้วยความที่หม่อมเป็นคนรักสวยรักงาม เวลาเดินจึงไว้กิริยาจะมีจังหวะเยื้องย่างไปมาเหมือนอย่างเป็ด กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจึงประทานชื่อให้ว่า “หม่อมเป็ด” ชาววังคนอื่นจึงพากันเรียก “หม่อมเป็ดสวรรค์” “หม่อมเป็ดขำ” หรือ “หม่อมขำเป็ด”

ส่วนใน เพลงยาวเรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะเรียกว่า “คุณขำ” ตามท้องกลอน หม่อมขำน่าจะมีลักษณะอวบอ้วน เพราะชื่นชอบการรับประทาน และการนั่งเตียงจนหัก เอนก นาวิกมูล เสนอว่า ช่วงชีวิตหม่อมขำที่ปรากฏใน หม่อมเป็ดสวรรค์ เธอน่าจะมีอายุราว 40–50 ปี โดยประมาณ หม่อมขำเลี้ยงเด็กหญิงในพระตำหนักใหญ่คนหนึ่งชื่อ ยายปาน เสมือนลูกของตัว

ตัวละครรอง

เสด็จในกรม หรือ เสด็จ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวิลาส เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้าของพระตำหนักใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปินและกวีทั้งหลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินในราชสำนัก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีน้ำพระทัยโอบอ้อมอารี ไม่ถือพระองค์ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินและกวีไว้หลายคน เข้าใจว่าเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ แต่งขึ้นเมื่อยามที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพยังทรงพระสำราญ แม้จะมีพระโรคมาเบียดเบียนบ้าง และผู้แต่งแต่งเรื่องด้วยอารมณ์สนุก

ท้าวนก เป็นข้าราชการฝ่ายในของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เข้าใจว่าภายหลังได้ย้ายเข้าไปรับราชการอยู่ที่พระบรมมหาราชวังเช่นเดียวกับหม่อมสุดและหม่อมขำ

จางวางหมอ หมายถึง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับราชการเป็นแพทย์ ถวายพระโอสถแก่เจ้านาย  และเคยเข้าไปถวายการรักษากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพที่พระตำหนักใหญ่ ในตอนนั้นเองหม่อมขำเข้าไปกราบทูลว่าปวดศีรษะ กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเป่ายานัตถุ์ให้ ปรากฏว่าฤทธิ์ของยานัตถุ์ทำให้หม่อมขำจามออกมาอย่างแรง จนฟันปลอมกระเด็นตกลงหน้าพระพักตร์กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พระองค์จึงพระสรวลด้วยความขำขัน แล้วตรัสว่า “ยานัตถุ์ฉันดีจริง ๆ ขนาดคนฟันยังหลุด แล้วโรคข้างในจะไม่หายได้ยังไง คอยสักประเดี๋ยวเถอะ โรคปวดหัวของเธอก็จะหายไปเหมือนฟันเลยทีเดียว”

หลวงนายศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า หมายถึง หลวงนายศักดิ์ (ครุฑ) ต่อมาได้ขึ้นเป็น เจ้าพระยายมราช (ครุฑ) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต้นตระกูลเป็นชาวเขมร ก่อนหน้านี้เคยรับราชการเป็นข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาก่อน  หม่อมขำเคยทำฟันปลอมร่วงลงต่อหน้าหลวงนายศักดิ์ เมื่อหลวงนายศักดิ์ถามว่าอะไรร่วง หม่อมขำก็บ่ายเบี่ยง อ้างว่าเป็นดอกหมากกระเด็นออกจากปาก พลางหันไปด่าบ่าวว่าตำดอกหมากไม่แหลก

คุณรับสั่ง เป็นสตรีชั้นสูงและรับราชการเป็นนางสนองพระโอษฐ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า หมายถึง เจ้าคุณหญิงต่าย หรืออีกชื่อว่า เจ้าคุณปราสาท  เป็นธิดาของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล นับเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ตาแจ้งวัดระฆัง หรือ ตาแจ้งถนนอาจารย์ คือ ครูแจ้ง เป็นจินตกวีผู้มีปฏิภาณคนหนึ่ง มีโวหารโลดโผนหยาบคาย[16] กระนั้นยังได้รับคำชื่นชมว่าเป็นผู้ฉลาดในบทกลอน ทั้งกระบวนกลอนแต่งและกระบวนกลอนสดจนเป็นที่ร่ำลือ ตาแจ้งขับเสภาคู่กันกับนายมีที่พระตำหนักใหญ่ ทั้งสองมักขับเสภายกความในของหม่อมขำมาไขในที่แจ้ง จนหม่อมขำเอือมระอา  อย่างไรก็ตาม ครูแจ้งได้แต่งเสภาในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เอาไว้หลายตอน ทำให้มีชื่อเสียงมาก

นายมี ต่อมาคือ หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) เป็นอีกหนึ่งจินตกวีผู้มีชื่อเสียง เขาเป็นผู้แต่ง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเดือน และ นิราศสุพรรณ เขาเข้าไปขับเสภาที่ตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ โดยจะขับเสภาคู่กับครูแจ้ง ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่องราวของหม่อมขำมาไขในที่แจ้ง ตอดกันคนละที จนหม่อมขำเอือมระอา

แพทย์วาโย มีราชทินนามว่า ขุนวาโย เป็นหมอนวด

คุณชีเหม หรือ คุณเหม เป็นหญิงสูงศักดิ์ผู้หนึ่ง ฝักใฝ่อยู่กับกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  ท่านชอบนำเรื่องของหม่อมขำไปเล่าแก่ผู้อื่นนอกพระตำหนัก

จีนยู เป็นช่างทำฟันที่มีชื่อเสียงมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมขำชอบใช้ฟันปลอมของจีนยู

ลูกปาน หรือ ยายปาน เด็กหญิงในพระตำหนักใหญ่ หม่อมขำเลี้ยงเป็นลูก

ลุงทองจีน ชายสูงวัย เป็นข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ผู้เห็นว่าหม่อมขำเอาทุเรียนและเม็ดบัวใส่ตะบันหมากให้ละเอียด เพราะหม่อมขำเหลือฟันแท้ไว้ขบอาหารน้อยซี่ จึงแก้เกี้ยวลุงทองจีนว่าตะบันดอกหมากกิน ลุงทองจีนจึงหัวเราะแล้วกล่าวว่า “น่าจะใคร่ศึกษาเป็นอาจารย์” ลุงทองจีนเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มักนำเรื่องของหม่อมขำไปเล่าแก่คนนอกตำหนัก

ยายมา พระพี่เลี้ยงในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

นายผึ้ง ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเป็นเพื่อนบ้านของคุณสุวรรณ มีบุคลิกพิเศษคือมีตาโปน ซึ่งหม่อมขำเรียกว่า “นายผึ้งตาพอง” เขามักเอาเรื่องหม่อมขำไปเล่าให้คนนอกพระตำหนักฟัง

หนูลิ้นจี่ ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

อีเปีย ข้าในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ

ออพู เป็นบ่าวในพระตำหนักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ปรากฎเป็นคนนวดให้หม่อมขำในมุ้ง ซึ่งขณะนั้นกำลังปวดท้องเพราะกินข้าวเหนียวบูด แต่หม่อมขำให้ออพูนวดต่อเนื่องยาวนานจนรุ่งสาง ออพูทนไม่ไหวจึงหนีออกไป หลังจากนั้นหม่อมสุดได้ต่อว่าและริบเงินค่าตัวของออพูไว้ แต่หม่อมขำรู้ตัวว่าใช้งานออพูหนักเกินไป จึงพูดปลอบให้หม่อมสุดใจเย็นลง

สถานที่

พระราชวังบวรสถาน หรือ วังหน้า คือ พระราชวังบวรสถานมงคล เป็นที่ประทับของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ต่อมาได้เสวยทิวงคตใน พ.ศ. 2375

พระวังหลวง หรือ พระวังใหญ่ หมายถึง พระบรมมหาราชวัง หรือเรียกว่า วังหลวง เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระตำหนักใหญ่ หมายถึงที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า พระตำหนักแดง (ภายหลังเรียก พระตำหนักตึก) เป็นหมู่พระตำหนักขนาดใหญ่ ทำจากไม้และมีสีแดง ตั้งต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยาที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง พระตำหนักนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี และสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร ตามลำดับ

  ในช่วงที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นเจ้าของ พระตำหนักแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปินและกวีทั้งหลาย เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิทรงมีพระราชนิยมส่งเสริมศิลปินในราชสำนัก แต่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงอุปถัมภ์ค้ำชูศิลปินและกวีไว้หลายคน พระตำหนักตึกถูกรื้อลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และย้ายไปกัลปนาเป็นศาลาการเปรียญ วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

ตำหนักแพ คือ ตำหนักแพลอยอยู่ริมท่าราชวรดิฐ

สรีร์สำราญ คือ ห้องส้วมของนางใน  ส้วมลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา มีไว้สำหรับเจ้าพนักงานชาววังโดยเฉพาะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และอุจจาระถูกขับถ่ายลงน้ำ ตามแม่น้ำลำคลองในอดีตจะมีอุจจาระลอยอยู่เป็นเรื่องปกติ

พระราชฐาน หมายถึง พระราชวัง

เมืองละคร ไม่ทราบว่าคือที่ใด หรีด เรืองฤทธิ์ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองสมมติใช้เรียกตลาดขายของบริเวณฝั่งธนบุรี แถบท่าน้ำวัดกัลยาณ์ (คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร) ท่าวัดแจ้ง (คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร) หรือท่าวังระฆัง (คือ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร)  เอนก นาวิกมูล เสนอว่าอาจหมายถึง สวนขวาภายในพระบรมมหาราชวัง หรือผู้แต่งอาจจะแต่งขึ้นสนุก ๆ เอาเอง  และมัชฌิมา วีรศิลป์ ระบุว่าเมืองละคร คือเมืองนครนายก

ถนนอาจารย์ เป็นถนนสายหนึ่ง หรีด เรืองฤทธิ์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นถนนแถววัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ภายหลังอาจเปลี่ยนชื่อไปแล้ว หรือลบเลือนหายไปแล้วก็ได้

เครื่องใช้

ผ้าละว้า คือผ้าฝ้ายทอมือ โบราณนิยมใช้ทำผ้าห่อศพ แต่หม่อมขำหาผ้าดี ๆ ไม่ได้ จึงต้องนำผ้าละว้าของคนลาวมาคลุมวอของตน แลดูเป็นเรื่องขบขันไป

ฟันกะลา คือฟันปลอมของคนสมัยก่อน ทำจากกะลามะพร้าวมาเจียนให้มีรูปเหมือนฟันแล้วหาวิธีใส่ เช่นผูกฟันปลอมเข้ากับฟันแท้ คนที่มีฐานะดีจะจ้างช่างทองทำฟันทองให้

ตะบัน มีลักษณะคล้ายครกแต่เป็นแท่งยาวทรงกระบอก มีขนาดเล็ก ใช้ตำหมากก่อนเคี้ยว  ประกอบด้วยส่วนประกอบสามอย่าง ได้แก่ “ตะบันหมาก” คือแท่งกลวงทรงกระบอก มีไม้กลมอุดใต้กระบอกเรียกว่า ดาก, “ลูกตะบัน” มีลักษณะเป็นแท่งยาวมีด้ามจับ ปลายแหลมคม ใช้สำหรับตำหมาก และ “สาก” แท่งเหล็กยาวผอม ใช้ตำอัดหมากให้แหลกให้แน่น

ผ้าสมปัก คือผ้านุ่งที่ขุนนางได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ใช้เป็นเครื่องแสดงเกียรติยศ นุ่งเมื่อเข้าเฝ้าเจ้านาย  เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า “ซ็อมปอต” (សំពត់, สํปต) แปลว่าผ้าสำหรับนุ่ง ไม่ได้มีความหมายเฉพาะอย่างไทยใช้

แป้งหิน หมายถึงแป้งร่ำ เครื่องประทิ่นชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่สองชนิด อย่างแรกคือแป้งร่ำที่ทำจากทรายเกลือ ทำจากน้ำทะเลชั้นทรายเกลือมาคั่วให้สุกจะได้แป้งขาวบริสุทธิ์ ส่วนอีกชนิดคือแป้งร่ำที่ทำมาจากดินสอพอง มีสีขุ่นกว่าทรายเกลือ แต่เป็นที่นิยมมากเพราะหาได้ง่ายและราคาถูก

กระเหม่า คือละอองเขม่าสีดำเกิดจากควันไฟผสมน้ำมันตานี หรือน้ำมันเหนียวอื่น ๆ ที่อบร่ำจนหอม ผสมปูนเล็กน้อย ใช้วาดคิ้วให้ได้รูปและแต่งไรผมของหญิงสมัยก่อน

ฝางเสน คือเนื้อไม้จากแก่นฝาง นำไปต้มดื่ม มีสรรพคุณคือแก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน ขับเสมหะ นอกจากนี้ยังใช้น้ำจากแก่นฝางย้อมผิวพร้อมกับทาขมิ้นให้ผิวขาวออกเหลืองตามคตินิยม

หมึกหอม คือขี้ผึ้งหรือสีผึ้งหอม ใช้ทาริมฝีปากให้ชุ่มชื่นในหน้าหนาว และทำให้น้ำหมากไม่จับปาก

กระแจะจันทร์ คือ กระแจะจันทน์ เป็นประทิ่นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแป้งหอมทาผิว ทำจากเปลือก เนื้อไม้ ราก และน้ำฝนของต้นกระแจะมาใช้เป็นวัตถุดิบ บดรวมกับเครื่องหอมต่าง ๆ ได้แก่ แป้งร่ำ กำยาน ลูกจัน ชะมดเช็ด

ผ้าร่ำ หมายถึงผ้าที่ผ่านกรรมวิธีอบร่ำให้หอม โดยใช้เครื่องหอมจำพวกยางไม้ กำยานเนื้อไม้ หรือดอกไม้ ใส่ในตะคันเผาไฟ ให้เกิดควันและกลิ่นหอมระเหยออกมา การร่ำผ้านั้นจะต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้กลิ่นหอมติดทนนาน

อาหาร

ห่อหมก เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน

นกคั่ว เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน

ใบบัวอ่อน เป็นผักที่ใช้แนมนกคั่ว

ทอดมัน เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน

จันลอน ปัจจุบันเรียกว่า แจงลอน หรือจังลอน คือเนื้อปลาโขลกกับรากผักชี กระเทียม ปั้นเป็นก้อนเสียบไม้ปิ้งไฟ เป็นหนึ่งในอาหารที่หม่อมขำซื้อจากเรือขนมจีนที่ท่าราชวรดิฐ กินมากจนปวดท้อง เข้าสรีร์สำราญไม่ทัน

•  หมากพลู เป็นเป็นของรับประทานเล่นของคนในยุคนั้น  ทำให้ฟันดำสวยงาม

ทุเรียน เป็นผลไม้โปรดของหม่อมขำ โดยเฉพาะทุเรียนจากเมืองละคร หม่อมขำใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลาทำให้ขบเคี้ยวได้ยาก จึงนำไปตำในตะบันก่อนนำไปรับประทาน

ผลบัว คือ เม็ดบัวฉาบหรือเม็ดบัวผัดเข้ากับน้ำตาลโตนด ตัดด้วยรสเค็มอีกเล็กน้อย เป็นของรับประทานเล่น หม่อมขำใส่ฟันปลอมที่ทำจากกะลาทำให้ขบเคี้ยวได้ยาก จึงนำไปตำในตะบันก่อนนำไปรับประทาน

ปลากริม คือแป้งปั้นไปต้มกับน้ำ ก่อนนำไปเคี่ยวกับน้ำตาลปึก มีรสออกหวาน สีน้ำตาล นิยมรับประทานคู่กันกับขนมไข่เต่า เมื่อมาประสมรวมกันเรียกว่าขนมแชงม้า

ลังเล็ด คือ นางเล็ด ทำจากข้าวเหนียวตากแห้งก่อนนำไปทอด แล้วราดด้วยน้ำอ้อย

ขนมจีนน้ำยา เป็นอาหารที่หม่อมขำไม่ถูกโรค แต่ก็อยากกิน

ขนมทอง ในท้องกลอนไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นขนมทองชนิดไหน อาจเป็นทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ทองพับ หรือทองฟู (คือขนมตาล)

ข้าวเหนียวสังขยา เป็นอาหารที่หม่อมขำอยากรับประทานมาก ใช้ให้ยายปานนำกาละมังโคมไปซื้อถึงเมืองละคร หม่อมขำกินจนเตียงไม้สักหักลงมาพลางผายลมเสียงดังลั่น

ข้าวเหนียวเหลืองหน้ากุ้ง คือข้าวเหนียวมูนแต่งสีและกลิ่นด้วยขมิ้น ส่วนหน้ากุ้งทำมาจากกุ้งสับผัดกับมะพร้าวคั่ว ปรุงรสด้วยน้ำตาล พริกไทย เกลือ ผักชี เป็นอาหารที่หม่อมสุดตั้งใจทำให้กับหม่อมขำ แต่ทว่าบูดเน่าไปเสียก่อน กระนั้นหม่อมขำก็รับประทานเสียจนเกลี้ยง 

การเผยแพร่

หม่อมเป็ดสวรรค์ ถูกนำมาตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไรไม่ปรากฏหลักฐาน แต่คาดว่าต้นฉบับเดิมคงถูกบันทึกลงบนสมุดข่อย ตามความนิยมในช่วงเวลานั้น กระทั่งธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น ได้ค้นพบต้นฉบับเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ใน พ.ศ. 2507 ได้หรีด เรืองฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีของกรมศิลปากรได้เขียนคำอธิบายประกอบเนื้อหาไว้ด้วย

โดย หม่อมเป็ดสวรรค์ มีสำนักหอสมุดแห่งชาติเป็นผู้ทรงลิขสิทธิ์ และสำนักพิมพ์จะต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากรก่อนนำไปตีพิมพ์ ทั้งนี้เคยมีการตีพิมพ์ร่วมกับวรรณกรรมอื่น ๆ ในยุคเดียวกันนั้นโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เท่าที่ปรากฏ ดังนี้

• สำนักพิมพ์ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิวพร พ.ศ. 2507 ใช้ชื่อว่า “กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

• สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. 2511 ใช้ชื่อว่า “บทละครเรื่องพระมเหลเถไถ เรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง เรื่องระเด่นลันได กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

• สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร พ.ศ. 2514 ใช้ชื่อว่า “บทละครเรื่องพระมเหลเถไถ เรื่องอุณรุทร้อยเรื่อง เรื่องระเด่นลันได กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ เรื่องพระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ”

• สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร พ.ศ. 2515 ใช้ชื่อว่า “บทละคร เรื่อง พระมเหลเถไถ บทละคร เรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และ บทละคร เรื่อง ระเด่นลันได”

• สำนักพิมพ์เสริมวิทย์บรรณาคาร พ.ศ. 2516 ใช้ชื่อว่า “บทละคร เรื่อง พระมเหลเถไถ บทละคร เรื่อง อุณรุทร้อยเรื่อง กลอนเพลงยาว เรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ กลอนเพลงยาว เรื่อง พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และ บทละคร เรื่อง ระเด่นลันได”

• สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พ.ศ. 2561 ใช้ชื่อว่า “นิราศหนองคาย และวรรณคดี 5 เรื่อง พระมเหลเถไถ อุณรุทร้อยเรื่อง หม่อมเป็ดสวรรค์ พระอาการประชวรของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และระเด่นลันได”